รมว.ศธ. พบเพื่อนครู ผู้บริหาร และบุคลากรการศึกษาทั่วประเทศ

วันที่ 9 กันยายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ร่วมรายการ “รมว.ศธ. พบเพื่อนครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ” เพื่อมอบนโยบายพร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติในด้านต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านการถ่ายทอดสดทางระบบออนไลน์ OBEC Channel เพื่อสื่อสารไปถึงครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ได้รับทราบเข้าใจไปพร้อมกัน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทุกคนที่ได้ทำงานกันอย่างหนักในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่เราได้เปิดเรียนมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ภายใต้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ซึ่งคุณครูทุกคนต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อปรับตัวกับการจัดการเรียนการสอน ทางกระทรวงฯและผู้บริหารระดับสูงเองก็ได้ทำงานกันอย่างหนักทั้งในเรื่องการออกระเบียบ กระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นตั้งแต่เรื่องของการลดภาระงานครู การประเมินนักเรียน รวมถึงการลดการบ้านนักเรียน และลดการสอบต่างๆ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองคลายความเครียดในการเรียน และก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากตอนนี้ได้ โดยในส่วนของการปรับลดภาระงานครูนั้น ก็เพื่อให้ครูได้เน้นในเรื่องการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน เพราะถึงแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราก็อยากให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนรู้ให้มากที่สุด พร้อมทั้งลดความเครียดให้กับเด็ก เพราะการเรียนรู้ที่อยู่ในภาวะสภาพจิตผ่อนคลายจะเป็นการเรียนที่ทำให้เด็กได้รับความรู้อย่างเต็มที่มากที่สุด ดังนั้นการลดภาระด้านการเรียนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นงานที่กระทรวงฯ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด

อีกเรื่องหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญและเป็นห่วงนอกจากในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน นั่นก็คือการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ จึงได้จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครองและนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองและนักเรียนในอัตรา 2,000 บาท ต่อนักเรียน 1 คน ซึ่งในขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการโอนเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัด ศธ. เรียบร้อยแล้ว เป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ประมาณ 10.8 ล้านคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ นางสาวตรีนุช ได้กล่าวถึงเรื่องของการถ่ายคลิปการจ่ายเงินเยียวยาที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ โดยขอยืนยันว่าตนเองไม่เคยมีนโยบายใดๆ ที่จะไปสร้างภาระให้กับคุณครูด้วยการถ่ายคลิปขอบคุณมาให้ดังกล่าว ด้วยมาตรการที่ได้พูดคุยกันในกระทรวงฯมาตลอดอยู่แล้วว่า ในการลงพื้นที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนโรงเรียนก็ได้ทราบว่าภายในสถานการณ์ตอนนี้ทางโรงเรียนก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตนเองจะไม่สร้างภาระต่างๆ ให้กับบุคลากรทุกท่านแต่อย่างใด สำหรับคลิปวิดีโอที่บางท่านมีความตั้งใจที่จะขอบคุณมาโดยตรง ตนเองต้องขอขอบคุณในเจตนาดีที่ท่านมีให้ แต่โดยหลักการแล้วทางกระทรวงไม่ได้มีนโยบายสั่งการเช่นนั้นลงไปแต่อย่างใด

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยา เราก็มีโครงการที่จะฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับครูมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งเราได้วางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียนแล้ว ในขณะนี้เราได้ฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปแล้วกว่า 70% และกำลังเร่งทยอยฉีดในส่วนที่เหลือ ในการเร่งรัดการฉีดวัคซีนก็เพื่อไม่ให้เด็กสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งสิ่งที่กระทรวงฯคิดมาตลอด คือ ไม่มีการเรียนรู้รูปแบบใดที่จะดีไปกว่าการที่เด็กได้ไปเรียนในโรงเรียนแบบ On Site ในห้องเรียนจริง เพราะในการเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องของการศึกษาหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อน ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างนักเรียนกับสังคมเข้ามาด้วย รวมถึงเป็นการลดความเครียดของเด็ก เหล่านี้จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ได้ นี่เป็นสิ่งที่กระทรวงฯพยายามคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้การเรียนแบบ On Site เกิดขึ้นได้ภายใต้ความปลอดภัย ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีน ที่จะมีการนำเข้ามาฉีดให้กับเด็กและเยาวชน อายุ 17-18 ปี ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อม โดยตนเองพร้อมด้วยปลัด ศธ. เลขาธิการ กพฐ. และผู้บริหารหน่วยงานหลักของกระทรวงฯ จะได้มีการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องของการเตรียมพร้อมการวางแผนการฉีดวัคซีน หากมีวัคซีนเข้ามาตามแผนปฏิทินที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เราจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กอย่างรวดเร็วที่สุดได้อย่างไร จะมีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบ และต้องคำนึงถึงว่าวัคซีนอะไรที่เหมาะสมจะฉีดให้กับนักเรียน ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงฯก็ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการสำรวจรายชื่อเด็กนักเรียน โดยทางเลขาธิการ กพฐ. ได้มีการประสานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้สำรวจว่ามีเด็กนักเรียนในสังกัดเท่าไหร่ รวมถึงการยินยอมของผู้ปกครองที่จะยินยอมให้บุตรหลานได้รับการฉีดวัคซีนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเราจะเร่งกระบวนการในส่วนนี้ต่อไป

นอกจากนั้น กระทรวงฯก็ได้ทำโครงการ Safety School Sandbox สำหรับโรงเรียนประจำ ซึ่งจะมีมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขมาให้คำแนะนำว่าต้องทำกิจกรรม bubble and seal กันอย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ซึ่งในระยะแรกเราได้ดำเนินการไปทั้งหมด 44 โรงเรียนแล้ว และจะมีการขยายผลต่อไป ซึ่งในการเปิดเรียนเราจะต้องประเมินสถานการณ์ในภาพรวมใหญ่ด้วย และในส่วนของโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยในโรงเรียน ก็ต้องขอบคุณสถานศึกษา คุณครู ผอ.โรงเรียน ผอ.เขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ช่วยเหลือชุมชนในการจัดเตรียมสถานที่ในโรงเรียนให้เป็นโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนามก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และได้ช่วยเหลือชุมชนด้วย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนนั่นเอง

“อีกสิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง เพราะในการเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่องผู้ปกครองอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้ปกครองอาจจะมีความคาดหวังในระดับหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเราทำได้อีกระดับหนึ่ง เราจึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กและผู้ปกครอง ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อีกทั้งมีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง ในการทำงานให้กับเยาวชนและพี่น้องประชาชนของเราต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ได้กล่าวเสริมว่า ในเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งทาง สพฐ. ได้โอนเงินไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตเรียบร้อยแล้ว สำหรับสถานศึกษาทุกแห่ง เมื่อได้รับการจัดสรรเงินตามมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาไปแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการโอนเงินหรือจ่ายเงินสดให้ถึงมือผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา อย่างเต็มจำนวนโดยเร็ว โดยไม่มีการหักเงินค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลต้องการให้เงินนี้เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า และอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนในกรณีของสถานศึกษาหรือนักเรียนที่อาจได้รับเงินเยียวยาล่าช้า เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือเป็นนักเรียนที่ได้มีการโยกย้ายสถานที่เรียนหลังจากการอนุมัติโครงการแล้ว ทำให้เกิดรายชื่อตกหล่น ในส่วนนี้ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เร่งติดตามและดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้เงินลงไปถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนครบถ้วนทุกคน

“ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งเร่งสำรวจรายชื่อนักเรียนรวมถึงการยินยอมของผู้ปกครองให้นักเรียนฉีดวัคซีนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่ว่าหากได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขตามแผนปฏิทินที่วางไว้แล้ว เราจะสามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องเพื่อนครูและผู้บริหารทั้งในระดับโรงเรียน และระดับเขตพื้นที่ ที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างสุดความสามารถ และขอให้นำนโยบายของ รมว.ศธ. ไปปรับใช้กับการทำงานในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อเกิดประโยชน์กับการจัดการศึกษามากที่สุดครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว