ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 9/2564

วันที่ 10 กันยายน 2564 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 9/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น โดยก่อนเริ่มการประชุมได้มีการอภิปรายเรื่อง “การแพทย์แผนไทยเชิงสวัสดิการในยุคไวรัสโควิด” โดยนายกสภาการแพทย์แผนไทย นายกสมาคมเทคโนโลยีและทรัพยากร และผู้แทนมูลนิธิน้ำแห่งความชื่นใจ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรและแพทย์แผนไทยในการรับมือกับสถานการณ์โรคโควิดอีกด้วย

ทั้งนี้ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยกันถึงเรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการควบรวมหรือการเลิกสถานศึกษา ซึ่งเราต้องเร่งรัดให้เขตพื้นที่ฯเป็นผู้ดำเนินการดูแล นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการเปิดภาคเรียนที่เรามองว่าการจะเปิดภาคเรียนได้เร็ว ไม่ควรห่วงเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนเป็นหลัก แต่ต้องดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครูครบ 100% โดยเร็ว เพราะในแง่ของการติดเชื้อในเด็กจากตัวเลขทางสถิติพบว่ามีอัตราการติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยร้ายแรงหรือเสียชีวิตในจำนวนที่ต่ำ ประมาณ 0.01% ดังนั้นเมื่อพุ่งเป้าไปที่ครูให้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 100% การเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนพฤศจิกายนก็น่าจะเป็นไปได้ และไม่ควรบังคับทั้งประเทศว่าต้องเปิดเทอมในเดือนไหน แต่ให้ทาง ศบค.จังหวัด พิจารณาว่าจังหวัดไหนหรือพื้นที่ไหนที่มีการระบาดไม่รุนแรงก็สามารถเปิดเทอมได้ หรือถ้าหากเปิดไม่ได้ ก็น่าจะมีทางเลือกให้เพิ่มเติม เช่น ให้เด็กมาเรียนสักครึ่งหนึ่งของนักเรียนทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษา สมมติว่ามีเด็กจำนวน 20-30 คน อาจจะสลับให้มาเรียนวันละ 5-6 คนได้ ครูก็จะได้ดูแลเด็ก ส่วนผู้ปกครองก็จะได้มีความสบายใจว่าเด็กได้มาโรงเรียน อย่างน้อยเด็กได้มาโรงเรียนทุกคนแต่อาจจะมาสัปดาห์ละครั้ง ยังดีกว่าเรียนออนไลน์ 100%

“ในส่วนของการเปิดภาคเรียน โดยหลักการไม่ควรบังคับให้ทั้งประเทศเปิดและปิดในเวลาเดียวกัน ส่วนการฉีดวัคซีนก็ต้องคำนึงถึงครูทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะครูคนไทยแต่รวมถึงครูต่างชาติที่อยู่ในโรงเรียนทุกสังกัดก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน ในขณะนี้ทราบว่าครูได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 70% หากสามารถฉีดวัคซีนให้ครูได้ครบ 100% ภายในเดือนตุลาคม คาดว่าเดือนพฤศจิกายนก็จะสามารถเปิดภาคเรียนได้ ขณะที่การฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนนั้น ขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเท่าที่ทราบคือ หากเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง และวัคซีนที่จะได้รับน่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย เพื่อความปลอดภัยในอนาคตของเด็ก แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง” นายเอกชัย กล่าว