วันที่ 15 กันยายน 2564 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ “พุธเช้า…ข่าวสพฐ.” ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้แก่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาทุกสังกัด พร้อมทั้งแนวทางการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพื่อสื่อสารไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทาง OBEC Channel และสื่อออนไลน์ของ สพฐ.
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบาย “เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า” ไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด และมีการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเปิดภาคเรียนต่อไปให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีการหารือร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ในแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้
สำหรับแนวทางแรกคือแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 2 เข็ม ให้แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้แก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียนนักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน พร้อมตั้งเป้าหมายให้นักเรียนนักศึกษาทุกคน ทุกสังกัด จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน
อีกส่วนคือแผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ โดยการเข้าร่วมเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1) เป็นโรงเรียนประจำ 2) เป็นไปตามความสมัครใจ และ 3) ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อีกทั้งจัดให้มีสถานแยกกักตัว และ Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการของ ศธ. และ สธ. รวมถึงมีการรายงานผลผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus ซึ่งในขณะนี้มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษาจำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง ซึ่ง ศธ. จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม
“สำหรับการฉีดวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้นักเรียนนักศึกษา อายุ 12-18 ปี ในต้นเดือนตุลาคมนี้ และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์) ส่วนการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 จะพิจารณาแยกตามข้อกำหนด มาตรการ และสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ต่อไป” ปลัด ศธ. กล่าว
ทางด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา จึงให้เด็กและครูมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนก่อนเป็นลำดับแรก ในส่วนนี้อยากให้ทุกคนมีความเชื่อและเข้าใจตรงกันว่า เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเราจะมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งครูจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร หากเราสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้วก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนมากขึ้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือทำอย่างไรให้นักเรียนได้ฉีดวัคซีนมากที่สุด ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ผู้ปกครองให้ความยินยอมและสมัครใจที่จะฉีด ซึ่งเราคาดหวังว่าหากนักเรียนรุ่นแรกได้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะสามารถเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนได้ และทยอยเปิดต่อไปเรื่อยๆ ตามพื้นที่ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ต้องการให้เด็กได้เรียนแบบ On Site โดยเร็ว
สำหรับการฉีดวัคซีนในรอบแรกอาจจะมีผู้ประสงค์ต้องการฉีดเป็นจำนวนหนึ่ง แล้วในระยะต่อไปอาจจะมีผู้สมัครใจเพิ่มมากขึ้นได้ จึงต้องเตรียมแผนสองไว้รองรับเพื่อให้กระบวนการสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ขาดตอน ทำให้โรงเรียนเกิดความปลอดภัย เพราะเมื่อทุกคนได้ฉีดวัคซีน ทุกคนก็จะรู้สึกว่ามีความปลอดภัยร่วมกัน ในส่วนนี้หลังจากฉีดแล้วอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนและผอ.เขตพื้นที่ฯ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อเด็กฉีดแล้วมีอาการข้างเคียงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะจากผลวิจัยจากต่างประเทศพบว่าในเด็กจำนวน 1 ล้านคน เกิดผลข้างเคียง 60 คน แต่ยังไม่มีเด็กที่อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากวัคซีนไฟเซอร์ จึงอยากให้ทุกคนเกิดความมั่นใจในจุดนี้ ขณะที่ในส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงไป ตอนนี้ก็กำลังมีการเตรียมทำการวิจัยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี ดังนั้นคาดว่าในอนาคตเด็กกลุ่มนี้ก็จะได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน
“เมื่อนักเรียนได้ฉีดวัคซีนแล้ว อยากให้คุณครูที่ยังไม่ได้รับการฉีดอีกประมาณ 30% ได้ไปฉีดวัคซีนกันครบทุกคน ในส่วนนี้ต้องให้ทุกฝ่ายทั้งศึกษาธิการจังหวัด ผอ.เขต และผู้บริหารโรงเรียน ติดตามให้ครูได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน เพราะเมื่อเราได้ฉีดครบทุกคนแล้ว ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครูก็จะได้เกิดความปลอดภัยร่วมกัน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเปิดเรียนเท่านั้น โรงเรียนใดที่ยังไม่ถึงคิวฉีดวัคซีนแต่สามารถประเมินตนเองผ่านเกณฑ์ โดยไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตให้เปิดเรียนได้ ทางโรงเรียนก็สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 37/2567 - 17 กันยายน 2024
- สพฐ. เร่งสอบข้อเท็จจริง ครูสาวสอบได้ที่ 1 ชื่อหาย ย้ำต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา - 16 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024