สพฐ. ประชุม สพท. ทั่วประเทศ ชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีนนักเรียน และติดตามการจ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท

วันที่ 20 กันยายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงข้อราชการและติดตามการดำเนินงานใน 2 ประเด็น คือ เรื่องการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนและติดตามการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบห้องประชุมทางไกล ZOOM

นายอัมพร กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่เราต้องเร่งดำเนินการในตอนนี้คือ เรื่องของการเตรียมพร้อมการเปิดภาคเรียน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะเป็นการเปิดเรียนแบบ On Site ซึ่งในการเปิดเรียนลักษณะดังกล่าว มีตัวแปรหรือปัจจัยที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ 2 ส่วนหลักๆ นั่นคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากไม่มีความรุนแรง มีความปลอดภัยเพียงพอ เราก็สามารถเปิดเรียนได้ นอกจากนั้น อย่างที่เราทราบกันดีว่าโรคภัยอาจจะไม่หายไปในเร็ววันนี้ แต่หากว่ามีวัคซีนเข้ามาให้นักเรียนและครูได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน ก็จะสามารถเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนแบบ On Site ได้ นี่คือความคาดหวังและแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ในการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

สำหรับการฉีดวัคซีนนักเรียน เราแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเตรียมการ ระยะที่ 2 ปฏิบัติการฉีดวัคซีน และระยะที่ 3 การติดตามและประเมินผล และแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน โดยในส่วนของการเตรียมการ อยู่ระหว่างวันที่ 10-17 กันยายน ในส่วนนี้ให้โรงเรียนและสถานศึกษาจัดเตรียมรายชื่อและจำนวนนักเรียนที่เข้าเกณฑ์การฉีด จากนั้นวันที่ 17-22 กันยายน ให้โรงเรียนทำความเข้าใจหรือให้ข้อมูลกับผู้ปกครองเรื่องการฉีด จากนั้นวันที่ 21-24 กันยายน ให้โรงเรียนและสถานศึกษาเชิญชวนผู้ปกครองในการแจ้งความประสงค์ให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน แล้วโรงเรียนก็จะสรุปนำส่งรายชื่อของนักเรียนที่จะรับการฉีดวัคซีนจากโรงเรียนไปยังเขตพื้นที่ฯ จากนั้นเขตพื้นที่ฯนำส่งรายชื่อไปยังศึกษาธิการจังหวัด แล้วศึกษาธิการจังหวัดก็จะนำรายชื่อส่งไปยังสาธารณสุขจังหวัด จากนั้นเมื่อสาธารณสุขจังหวัดได้รับรายชื่อแล้วก็จะจัดทำยอดขอวัคซีนและวางแผนการฉีดวัคซีน สุดท้ายคือการฉีดวัคซีนก็จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมเป็นต้นไป

ในช่วงของการเตรียมการนั้น เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง โดยเขตพื้นที่ฯจะต้องทำความเข้าใจกับผอ.โรงเรียน เพื่อให้ผอ.โรงเรียนไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ในเรื่องของประโยชน์ และคุณภาพที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนว่ามีข้อดีอย่างไร โดยแนะนำเชิญชวนให้ผู้ปกครองตระหนักและให้ความร่วมมือในการยื่นความประสงค์ให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อผู้ปกครองมีความเข้าใจตรงกันแล้วเห็นว่าการฉีดวัคซีนไม่เป็นอันตราย ก็จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนทุกคน ส่วนการสำรวจรวบรวมรายชื่อนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้คือเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ขอให้ทางเขตพื้นที่ฯทำการสำรวจครอบคลุมเด็กในช่วงอายุดังกล่าวและให้ร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดกำหนดแผนการฉีด ซึ่งจะมีปฏิทินการฉีดว่าจะเริ่มฉีดที่ไหน มีเด็กจำนวนเท่าไหร่ โดยเด็กที่ฉีดในแต่ละโรงเรียน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักเรียนในโรงเรียนนั้นทั้งหมด อาจจะรวมนักเรียน 2-3 โรงมาฉีดพร้อมกันก็ได้

ต่อมาในระยะที่ 2 เมื่อทำการสำรวจรายชื่อนักเรียนและสรุปยอดส่งให้ศึกษาธิการจังหวัดแล้ว ขอให้ประสานเตรียมการรองรับในการฉีดวัคซีนในแต่ละจุด ทั้งการประสานงานร่วมกันระหว่างเขตพื้นที่ฯ ศึกษาธิการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด สุดท้ายคือระยะของการติดตามตรวจสอบ โดยร่วมมือกับสาธารณสุขในการเฝ้าติดตามดูแลเด็กนักเรียนว่าหลังจากฉีดแล้วมีอาการข้างเคียงหรือมีอาการผิดปกติอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งประสานงานส่งต่อหรือดูแลเด็กนักเรียนต่อไป ซึ่งในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงจะฉีดเข็มที่ 2 ดังนั้นถ้าหากว่าเข็มที่ 1 ไม่มีผลกระทบใดๆ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

“เรามีความคาดหวังว่าอยากเห็นนักเรียนของเราทั้งหมดทั่วประเทศได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ภายในเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม จากนั้นเราจึงจะเปิดเรียนแบบ On Site ได้อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เด็กๆก็จะได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งตนคิดว่าผู้บริหารทุกคนก็น่าจะมีความคาดหวังเช่นเดียวกัน คือ อยากเห็นโรงเรียนได้เปิดเรียนแบบ On Site อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยไปพร้อมกัน ในส่วนเรื่องเงินเยียวยา 2,000 บาท พบว่าในวันนี้ยังมีเด็กและผู้ปกครองที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาอีกกว่า 5 หมื่นคน ขอให้ผู้บริหารทุกท่านได้ติดตามและเร่งรัด พร้อมทั้งรายงานสภาพปัญหา ในกรณีที่พบเหตุขัดข้องไม่สามารถดำเนินการได้ ว่าเป็นเพราะเหตุใด ตนอยากให้ทุกท่านเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เงินถึงผู้ปกครองอย่างครบถ้วน หากพบปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ก็ให้รายงานมาที่ สพฐ. โดยด่วน ส่วนโรงเรียนไหนที่ของบเพิ่มเติม ก็จะจัดสรรลงไปให้ในเร็ววันนี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว