วันที่ 21 กันยายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมวิชาการ และประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM และสื่อออนไลน์ OBEC Channel เพื่อให้ประชาชนที่สนใจร่วมรับฟังโดยพร้อมกัน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้กล่าวรายงานในที่ประชุมว่า การจัดการประชุมวิชาการในวันนี้ เพื่อเป็นโมเดลในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและในราชกิจจานุเบกษาที่กำหนดให้แก้ปัญหาด้านการศึกษาด้วยวิธีปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และกำหนดให้ปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based curriculum) ในปัจจุบัน ให้ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะในยุคใหม่ (Competency-based Learning) โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ในลักษณะของการเรียน “วิธีเรียนรู้ (How to learn)” ที่ผู้เรียนสามารถนำไปเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ผ่านการรวบรวมข้อมูล (Gathering) การจัดข้อมูลให้เกิดความหมายผ่านการคิดวิเคราะห์ เพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม ออกแบบสร้างสรรค์ สร้างทางเลือก ตัดสินใจเลือกเป้าหมายแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ (Processing) วางแผนลงมือทำ ตรวจสอบแก้ปัญหา พัฒนาไปสู่ระดับนวัตกรรม (Applying 1) โดยผู้เรียนสามารถสรุปเป็นความรู้ระดับต่าง ๆ จนถึงระดับหลักการ สามารถนำเสนอได้อย่างมีแบบแผน (Applying 2) และประเมินภาพรวมเพื่อกำกับความคิดและขยายค่านิยมสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น (Self-Regulating) ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้ สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และทางออนไลน์ เพื่อเข้ากับบริบทของผู้เรียนอย่างเหมาะสม
สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเด่นของกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว คือการที่ผู้เรียนนำเอากระบวนการสร้างความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในชีวิตประจำวันและการเรียนเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จากนั้นนำไปต่อยอดได้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปลาย โดยให้เด็กได้เรียนรู้แบบปฏิบัติการเชิงวิจัยนำไปเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน เด็กแต่ละคนจะสามารถออกไอเดียในการยกระดับคุณภาพชีวิต ครอบคลุมการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ รวมถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม เชิงบริการ และอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย นับว่าเป็นการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนก็มีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ระดับหลักการ สร้างนวัตกรรม และเสริมสร้างสมรรถนะ (Competency Learning) ให้นักเรียนเกิดสมรรถนะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการพัฒนาครูแบบ Coaching ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บรรลุผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบภาคเหนือ จำนวน 10 จังหวัด รวม 30 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 10 โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง 10 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ 10 โรงเรียน พบว่า ประสบผลสำเร็จและเกิดผลงานจากการปฏิบัติ เป็นนวัตกรรมทั้งของครูและนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และมีความคาดหวังว่าจะเกิดนวัตกรรมในปีการศึกษาต่อไปจำนวนกว่า 5,000 นวัตกรรม
“จากความสำเร็จดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาคให้ทั่วประเทศโดยเร็ว และเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษา เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และปฏิบัติตามนโยบายปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน” รมว.ศธ. กล่าว
จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาได้แม้ในสภาวะวิกฤตโควิด-19 สามารถเดินหน้าตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบันให้เน้นการเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะ โดยมอบให้ สพฐ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำการเรียนรู้แบบ Active Learning ไปใช้ออกแบบระบบในการใช้ห้องเรียนเป็นฐานการพัฒนา โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมนิเทศ พัฒนา พาทำ ชี้แนะตั้งแต่ระยะต้นน้ำ ระยะกลางน้ำ และระยะปลายน้ำ อย่างสอดคล้องกับบริบทการทำงานของผู้บริหารและครู
นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า ผลงานนวัตกรรมของครูและนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรมในวันนี้ มีความหลากหลายอย่างมาก ซึ่งเป็นผลเชิงประจักษ์ที่สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนสามารถบูรณาการความรู้ ความถนัด ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะ รวมถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น มาคิดค้นสร้างนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ เป็นที่น่าชื่นชมว่านักเรียนของเราจะเป็นทุนมนุษย์ที่ทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ผลจากโครงการนี้จึงเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งบทเรียนความสำเร็จจากนักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลให้เกิดการพลิกโฉมกระบวนการเรียนรู้ในวงกว้างในภูมิภาคอื่น ๆ ได้
“ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งขยายผลดังกล่าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะการปรับให้เข้ากันได้กับสถานการณ์ที่ต้องจัดการเรียนรู้ในภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ เป็นที่ชื่นชมและภาคภูมิใจของนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทั้งประเทศต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า หัวใจสำคัญและความท้าทายของ สพฐ. ที่มีมาตลอด คือ การเปลี่ยนแปลงการสอนของครูว่าจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบใดเพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามที่สังคมคาดหวัง รวมถึงระบบจะสนับสนุนอย่างไร ใครจะช่วยเป็นผู้ชี้แนะก้าวเดินไปด้วยกัน โดยการดำเนินการครั้งนี้ สพฐ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้รูปแบบการพัฒนาตลอดแนวร่วมกับเครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยได้พัฒนาครูอย่างต่อเนื่องทุกระยะ เน้นการลงมือทำจริงและการ Coach แก่โรงเรียนต้นแบบ เพื่อเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ที่เป็น Passive Learning เป็น Active Learning ให้นักเรียนมีขั้นตอนการเรียนรู้ที่พัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ร่วมกับพหุปัญญาของตนเองและของเพื่อน มาร่วมกันคิดและทำความคิดให้เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์ มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างคุณค่าของตนในสังคม
จะเห็นได้ว่าการสร้างผลงานของนักเรียนในวันนี้ มีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่า 1,500 นวัตกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สมรรถนะสำคัญด้านต่าง ๆ เช่น การคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ หากนักเรียนยิ่งใช้สมรรถนะ ก็ยิ่งเกิดการพัฒนา ยิ่งเชื่อมโยง เรียกได้ว่ามีศักยภาพสูงขึ้น พร้อมทั้งมีจิตใจมีคุณธรรมเพื่อความเจริญของสังคมมากขึ้น ในส่วนคุณครูเองก็ได้ลงมือเปลี่ยนแปลงการสอนด้วยกลวิธีที่น่าสนใจต่าง ๆ เป็นการพัฒนานวัตกรรมการสอนโดยยังใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ฉบับปัจจุบัน อีกทั้งแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครู มีศึกษานิเทศก์ มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเส้นทางการเปลี่ยนแปลง เกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน มี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้นำ และผู้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ จึงเป็นรูปแบบที่สามารถสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ครบทั้งระบบอย่างแท้จริง
“สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว ดร.วิษณุ เครืองาม ได้มีคำสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. เร่งนำไปขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มขยายผลได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เป็นการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ยกระดับศักยภาพนักเรียนให้เป็นนวัตกรตามยุทธศาสตร์ชาติได้ตามแผนงานการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และตามความคาดหวังของสังคม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว