สพฐ. ร่วมเวทีระดมสมองออนไลน์ ครั้งที่ 2 เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปฏิบัติหน้าที่ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564) ในฐานะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกิจกรรมเวทีระดมสมองออนไลน์ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ในหัวข้อ “หลักสูตรการศึกษาแบบไหน? ช่วยเด็กไทยค้นพบเป้าหมายและศักยภาพของตนเอง” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นายภาคินัย สุนทรวิภาต ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตบางนา นายสุริยน สุริโยดร ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่คือวิทยา สพป.เชียงใหม่ เขต 1 นายร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม และนางณัฐยาน์ ชูช่วง ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก จ.สตูล ร่วมเสวนา พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านทางสื่อออนไลน์เพื่อให้สาธารณชนได้รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ

นายกวินทร์เกียรติ กล่าวว่า การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างคนเก่ง คนดี ที่มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลักสูตรเดิมเราพบว่ามีตัวชี้วัดมากมาย ทำให้ครูต้องวิ่งตามกรอบหลักสูตร หรือทำอย่างไรให้ได้ครบตามตัวชี้วัดหรือมาตรฐาน ทั้งที่บางเรื่องเด็กอาจยังไม่มีความพร้อมที่จะผ่านในจุดนั้น แต่จำเป็นต้องก้าวข้ามไปเพื่อไปให้ถึงจุดอื่นหรือตัวชี้วัดอื่น ทำให้หลักสูตรเดิมน่าจะไม่ตอบโจทย์กับยุคปัจจุบัน รวมถึงวิทยาการความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นเด็กๆ จึงต้องได้รับการเตรียมความพร้อมสำหรับวันนี้และวันพรุ่งนี้ โดยเรียนรู้วันนี้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเรียนรู้วันพรุ่งนี้เพื่อเตรียมพร้อมกับการใช้ชีวิตในอนาคต โดยปรับตัวเข้ากับวิทยาการที่เจริญก้าวหน้าต่อไปได้

“สิ่งที่เราต้องการให้ต่างจากหลักสูตรเดิม คือเราจะพยายามเปลี่ยนวิธีการเรียนจาก Passive Learning เป็นแบบ Active Learning ซึ่ง Passive Learning หมายถึงเด็กเป็นผู้ถูกกระทำมากกว่าจะเป็นคนทำ นั่นคือครูเป็นคนสอน สั่ง มอบหมาย จัดการ ถ้าหากเปลี่ยนมาเป็น Active Learning ก็คือครูจะร่วมกับเด็ก หรือเด็กร่วมกับครู ในการกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน เพราะหากคุณครูใช้การกำกับหรือการสั่งเพียงอย่างเดียว เด็กก็จะคิดน้อยลง เพราะฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นการโค้ชชิ่ง (Coaching) คือการกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิด ส่วนครูจะคอยแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กได้คิดด้วยตนเอง แล้วครูก็จะเสริมแรงเข้าไป นี่คือการเรียนแบบ Active Learning นอกจากนั้น เราต้องเปลี่ยนเครื่องมือวัดประเมินผลใหม่ และต้องยึดหลักพหุปัญญา เพราะเด็กแต่ละคนเกิดมาแตกต่างกัน มีความเก่ง ความสามารถ ความถนัด หรือความชอบแตกต่างกัน ดังนั้นเครื่องมือที่วัดประเมินผลต้องตอบโจทย์ในส่วนนั้น โดยไม่ใช่การวัดด้วยข้อสอบเพียงอย่างเดียว” นายกวินทร์เกียรติ กล่าว

นางสาวฐิติมา ชาลีกุล
Latest posts by นางสาวฐิติมา ชาลีกุล (see all)