6 ตุลาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กนอกโรงพยาบาล ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
นายอนุทิน ชาญวีรกุล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ จัดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับนักเรียนอายุ 12-18 ปี ในสถานศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ โดยจะเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงโดยเร็ว และขอขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่อนุญาตให้ลูกหลานมารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขอให้คำยืนยันว่าวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสูง สามารถป้องกันการแพร่เชื้อโควิด 19 ได้ และที่สำคัญจะทำให้ผู้ได้รับเชื้อที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่มีอาการป่วยหนักและโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการได้รับวัคซีนมีมากกว่าการไม่ได้รับวัคซีนหลายเท่าตัว
สำหรับวันนี้ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี มีนักเรียนชั้น ม.1-6 ที่สมัครใจและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเข้ารับวัคซีน จำนวน2,505 คน จากนักเรียนทั้งหมด 2,929 คน ขณะที่นักเรียนทั่วประเทศที่มีช่วงอายุ 12-18 ปีที่สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์ได้มีประมาณ 5 ล้านคน และได้รับการยืนยันข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการว่ามีนักเรียนลงทะเบียนแล้วจำนวน 3.8 ล้านคน ซึ่งยังเหลือนักเรียนอีกประมาณ 1 ล้านคน โดยจะต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผ่านทางโรงเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้ผู้ปกครองอนุญาตให้เด็กมาฉีดวัคซีน เพราะการได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง เป็นการป้องกันได้ว่าจะไม่มีการกระจายเชื้อในโรงเรียน ขณะเดียวกันจะเร่งฉีดวัคซีนไปเรื่อยๆ และยืนยันว่าสามารถฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนในโรงเรียนทุกแห่งได้ ซึ่งจะมีการจัดระบบสาธารณสุขแต่ละจังหวัด เพื่อกระจายการฉีดออกไปทุกพื้นที่อย่างเร็วที่สุด
ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวเพิ่มเติมถึงการเปิดภาคเรียนในเดือนพฤศจิกายนว่า การที่นักเรียนได้รับวัคซีนเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและลดความรุนแรงจากการรับเชื้อ ทำให้ มั่นใจเรื่องควงามปลอดภันมากขึ้น แต่ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้วการเปิดภาคเรียนก็ยังต้องภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และจะต้องประเมินตามบริบทของพื้นที่อีกครั้งว่าจะสามารถทำการเรียนการสอนได้ด้วยวิธีใด นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนเผชิญเหตุหากเกิดการติดเชื้อในโรงเรียนว่าจะมีวิธีรับมืออย่างไร โดยจะร่วมกันติดตามผลหลังจากนี้ต่อไป