วันที่ 13 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการโรงเรียนนำร่อง ระยะที่ 1 และระยะที่ 1 (เพิ่มเติม) ให้มีความรู้ความเข้าใจแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมในพิธี ณ โรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนโดยการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ นำมาประยุกต์แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก และสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ โดยปรับเปลี่ยนพื้นฐาน แนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาจริงในท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ในสถานศึกษา ให้เกิดผลในมิติต่างๆ ทางด้านการพึ่งพาตนเอง มีความกตัญญู การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางปัญญา รวมทั้งสามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นการน้อมนำแนวทางพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ นำมาประยุกต์แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาจริงในท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ในสถานศึกษา ดิฉันและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ต่างมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ด้วยทรงห่วงใยการศึกษาของเด็กไทยที่กำลังจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ โดยโครงการนี้จะเป็นคุณประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของเด็กไทย และของประเทศชาติสืบไป” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” มีวัตถุประสงค์ให้เป็นการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กและสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตระหนักถึงความสำคัญและได้น้อมนำโครงการมาปฏิบัติ โดยดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 จำนวน 35 โรงเรียน และระยะที่ 1 (เพิ่มเติม) จำนวน 67 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 102 โรงเรียน และได้ประสานความร่วมมือกับ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ระยะที่ 1 เตรียมการพื้นฐานโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 และระยะที่ 1 (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 13-22 กันยายน และวันที่ 27 กันยายน 2564 ส่งผลให้สถานศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางที่ชัดเจน สำหรับนำมาพัฒนาจัดระบบการเรียนการสอน ตามหลักการ 5 เปลี่ยน และหลักการ 5 ประเมิน โดยสามารถปรับให้เข้ากับภูมิสังคมและบริบทของแต่ละท้องถิ่น อันจะนำพานักเรียนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของชุมชนต่อไป
“อารยเกษตร จะเป็นต้นแบบตัวอย่างของความสำเร็จทางด้านรูปธรรมและนามธรรม โดยน้อมนำองค์ความรู้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ตลอดจนคุณธรรม จากการได้ลงมือ ลงใจศึกษา และนำมาปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดผลตามแนวทางพระราชทานอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้เกี่ยวข้อง จะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ร่วมกันดำเนินงานโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นคนดี มีความกตัญญู และเป็นกำลังในการพัฒนาชาติสืบไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว