วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดงาน “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา รวมพลังฟื้นฟูประเทศไทย” โดยความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ซึ่งมีเครือข่ายเข้าร่วมก่อตั้งมากกว่า 16 องค์กร โดยถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ เพจ กสศ. และไทยพีบีเอส
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดงาน “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา รวมพลังฟื้นฟูประเทศไทย” โดยความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ซึ่งมีเครือข่ายเข้าร่วมก่อตั้งมากกว่า 16 องค์กร โดยถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ เพจ กสศ. และไทยพีบีเอส
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังฟื้นตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า การศึกษาเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็กและเยาวชน ที่เป็นอนาคตของชาติหลายล้านคน รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการบรรเทา ป้องกัน หรือฟื้นฟูที่เข้มข้นเพียงพอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่สถานการณ์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะสูงขึ้น หรือมีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 10.8 ล้านคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน ต้องทำให้เกิดการปฏิรูประบบได้อย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญ คือ การพัฒนางานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ริเริ่มระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา / เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เรียนต่ออย่างเต็มศักยภาพ ไม่หลุดออกนอกระบบ โดยมีตัวอย่างมาตรการสำคัญ คือ โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash transfer – CCT) ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้เกิดผลลัพธ์มุ่งตรงกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุด 15% ของประเทศ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1/2564 ที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,208,367 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และยังมีมาตรการพิเศษ เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ (อนุบาล 3 ป.6. ม.3) ในสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น จำนวน 294,454 คน
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ศธ. และ กสศ. ยังพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อดูแลและส่งต่อนักเรียน ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงระบบดูแล เฝ้าระวัง และส่งต่อเด็กวัยเรียนในครัวเรือนยากจน และด้อยโอกาสให้คงอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งจะดำเนินการครบวงจรครอบคลุมทั้ง 223 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศในปีการศึกษา 2565 ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเป็นปัญหาขนาดใหญ่ และการแก้ปัญหาที่อาศัยกลไกภาครัฐแต่เพียงลำพัง ย่อมไม่สามารถจัดการให้หมดไปได้ ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยแนวคิด “ปวงชนเพื่อการศึกษา” หรือ “All for Education” ระดมทุกสรรพกำลัง ทุกทรัพยากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษามีความเป็นธรรม และสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาส ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกลุ่มอื่น”
“วันนี้ คือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมแบ่งปันความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีร่วมกัน เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กยากจนด้อยโอกาส เพราะในวันนี้เราไม่สามารถทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังได้อีกแล้ว และนี่คือเวลาของการปฏิรูปเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเกิดขึ้นของเครือข่าย ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดย กสศ. ร่วมกับ ศธ. วิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Information System for Equitable Education หรือ iSEE เชื่อมโยงระบบสารสนเทศของเด็กและเยาวชนรายบุคคลมากกว่า 10 ล้านคนจากสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และ กสศ. เพื่อแสดงข้อมูลสารสนเทศให้สังคมมองเห็นสถานการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษาในรายพื้นที่ ครอบคลุมสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่ง ใน 3 สังกัดทั่วประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการขี้เป้าและการรายงานผลการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยทรัพยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อยกระดับการทำงานจากการเยียวยา สู่การจัดการเชิงระบบที่ยั่งยืน เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาจากพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน
“จากข้อมูลล่าสุดภาคเรียนที่ 1/2564 ประเทศไทยมีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน โดยในตัวเลขนี้พบว่ามีเด็กช่วงชั้นรอยต่อ จำนวน 43,060 คน ที่ยังไม่พบข้อมูลว่าได้กลับเข้ามาเรียนต่อในภาคเรียนที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่อยู่ในรอยต่อระดับ ม.3 ขึ้น ม.4/ปวช. ซึ่งจากการรายงานของสถานศึกษา ในช่วงเปิดเทอม 1/2564 ที่ผ่านมานี้ ชี้ถึงสาเหตุที่เด็กกลุ่มนี้ไม่เรียนต่อ เนื่องจากต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน หารายได้เป็นเสาหลัก เลี้ยงครอบครัว โดย กสศ. ได้ประสานงานร่วมกับ สพฐ. ในการส่งต่อข้อมูลเด็กช่วงชั้นรอยต่อกลุ่มนี้ เพื่อวิเคราะห์เชื่อมโยงกับรายชื่อผู้ที่รับเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ จำนวน 2,000 บาท และทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ในการติดตามเพื่อให้กลับมาเรียนต่อในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้”
“วันนี้มิใช่งานที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีต่อเม็ดเงินบริจาคที่รวบรวมได้ แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และความเป็นผู้นำของท่านผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะ วิกฤต COVID-19 ในระบบการศึกษาไทย โดยก่อนการจัดตั้ง กสศ. ขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน งบประมาณเพื่อภารกิจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นรายบุคคลนั้นเคยมีอยู่เพียงร้อยละ 0.5 หรือ 50 สตางค์สุดท้ายของงบประมาณด้านการศึกษา 5 แสนล้านบาทของประเทศเท่านั้น แต่ในวันนี้ ท่านรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านได้แสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับด้น เป็นบาทแรก และได้กรุณาเสียสละเงินเดือนของท่านเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อไปช่วยเหลือสนับสนุน” ดร.ประสาร กล่าว
ขณะที่ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การสละเงินเดือนตลอด 3 เดือนเพื่อบริจาคให้แก่ กสศ. หากมองให้ลึกกว่าจำนวนเงินบริจาค ดิฉันขอให้สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ ที่แสดงถึงจุดยืนและความมุ่งมั่นตั้งใจของดิฉันในการทุ่มเทเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมาย เด็กเปราะบางที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่มีศักยภาพและแรงใจเต็มเปี่ยม เพราะเชื่อมั่นว่าเราสามารถสนับสนุนให้เด็กๆ กลุ่มนี้ พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เปลี่ยนความพิเศษให้เป็นพลัง เพราะพวกเขาทุกคน ถือเป็นกำลังสำคัญต่อประเทศชาติเช่นกัน
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่าย “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันทางการศึกษา” จำนวน 16 องค์กร ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึง พิธีมอบเงินบริจาคสมทบผ่านแคมเปญ “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันทางการศึกษา” โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. เป็นผู้มอบ โดยจะนำไปช่วยเหลือ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากกว่า 1,612 คน ที่ศึกษาและอาศัยอยู่ใน 14 โรงเรียนพักนอนในพื้นที่ยากลำบากที่สุดในประเทศไทย 2. เด็กกำพร้าที่สูญเสียผู้ปกครองจาก COVID-19 จำนวน 399 คน ให้ได้ศึกษาต่อไปในระบบการศึกษา และ 3. และเด็กพิการจำนวน 103 คนในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024