วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ของสถานศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อตรวจเยี่ยมระบบคัดกรองและมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) รวมถึงการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงคณะทำงาน ร่วมติดตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในจ.สมุทรสาคร ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่อย่างเช่นโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาคม ที่เราได้มาตรวจเยี่ยมในวันนี้ หากเปิดเรียนแบบ On-site ก็จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบสลับชั้นเรียน หรือสลับวันมาเรียนวันคู่วันคี่ ซึ่งเป็นมาตรการรูปแบบหนึ่งที่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเพื่อให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงมีการฉีดวัคซีนครู ซึ่งขณะนี้ฉีดไปได้แล้วกว่า 90% เป็นการดำเนินตามกรอบที่ให้ไว้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สิ่งที่เราเน้นย้ำมาตลอดนอกจากเรื่องการฉีดวัคซีนก็คือการปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด โดยเว้นระยะห่าง มีการสวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งย้ำให้ทางโรงเรียนและคุณครูปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องมีแผนเผชิญเหตุ หากมีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในโรงเรียนพบอาการติดเชื้อ ก็จะต้องมีกระบวนการรับมือโดยร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่
สำหรับการตรวจโควิดในโรงเรียนด้วยชุดตรวจ ATK จะใช้ในพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยอยู่ภายใต้มาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่แต่ละโรงเรียนมีบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.เขตฯ และศึกษาธิการจังหวัด ในการประเมินว่าพื้นที่ใดมีความจำเป็นต้องใช้การตรวจดังกล่าว และหากเกิดกรณีที่พบว่าครูหรือนักเรียนติดเชื้อโควิด ในส่วนนี้ก็จะมีคู่มือให้ทุกโรงเรียนเป็นแนวปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น มีการกักตัว มีการปิดห้องเรียนที่มีผู้ติดเชื้อเพื่อทำความสะอาด โดยอาจไม่ต้องปิดทั้งโรงเรียน แต่จะดูว่าผู้ที่ติดเชื้อมีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนใดบ้าง หรือหากครอบครัวไหนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คุณครูก็จะเป็นคนคอยประสานเพื่อรับทราบข้อมูลของเด็กได้ทันที
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า เราให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยมากที่สุด หากโรงเรียนใดที่เห็นว่ายังไม่พร้อมในการเปิดเรียนแบบ On-site ก็สามารถทำได้ ซึ่งในวันที่ 1 พ.ย.นี้ มีโรงเรียนที่เปิด On-Site จำนวน 11,015 โรงเรียน จากจำนวน 29,021 โรงเรียนทั่วประเทศ หลังจากนี้ก็จะมีการทยอยเปิดต่อไปเรื่อยๆ จนครบ ในส่วนของเด็กนักเรียนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็สามารถเข้ามาเรียนได้ ซึ่งจากตัวเลขเดิมที่มีผู้ประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนในขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจ ซึ่งเราก็ได้เน้นย้ำกับคุณครูและโรงเรียน ว่าวัคซีนเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่จำเป็นสำคัญคือมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
“สำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงเปิดเทอมแรกๆ ต้องให้คุณครูทำความเข้าใจกับเด็ก ให้เด็กมีความสุขกับการมาโรงเรียนก่อน ทั้งในเรื่องของการปรับพฤติกรรม เนื่องจากเด็กเรียนอยู่ที่บ้านมานาน ก็ต้องปรับสภาพให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ก่อน เมื่อเด็กมีความพร้อมแล้วก็ค่อยเพิ่มวิชาความรู้เข้าไป คาดว่าจะทำให้เด็กสามารถติดตาม ทบทวนเนื้อหาการเรียนได้ทัน” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับรายงานล่าสุด มีโรงเรียนที่พร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่มีโรงเรียนที่เปิดแบบ On-Site จำนวน 11,015 โรงเรียน และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในระหว่างการขออนุมัติให้เปิดเรียนแบบ On-Site ในวันที่ 15 พ.ย. ที่เหลือก็จะทยอยเปิดต่อไปจนครบ ในวันนี้โรงเรียนก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและเด็กว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไร เมื่อเข้ามาในบริเวณโรงเรียนก็ต้องมีมาตรการที่ต้องปฏิบัติ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในส่วนประเด็นการฉีดวัคซีน ในพื้นที่สีแดงและสีแดงเข้มมีการกำหนดให้ครูและบุคลากรต้องได้รับวัคซีน 85% ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่ได้กำหนด แต่ก็มีการรณรงค์ให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย โดยเน้นที่ความสมัครใจเป็นสำคัญ
“ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกเราไม่ได้เน้นในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนให้เต็มที่ แต่ต้องการให้ครูทำความเข้าใจกับนักเรียนว่าเราจะอยู่กับโควิด-19 ให้ปลอดภัยได้อย่างไร เพื่อเกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงประเมินความพร้อมของนักเรียนว่ามีส่วนที่ยังขาดตรงไหนบ้าง จะได้ทำการเสริมเพิ่มเติมในส่วนนั้น เป็นการเติมเต็มในช่วงเวลาที่นักเรียนต้องเรียนอยู่บ้านมานาน ให้ได้รับสาระความรู้ที่สมบูรณ์” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. ประชุมการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา 2567 ขับเคลื่อน “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง - 12 กันยายน 2024
- กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารและครูกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยฯ เฝ้าฯ - 12 กันยายน 2024
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 36/2567 - 10 กันยายน 2024