วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเดอะวัน จังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวต้อนรับ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. และผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมจำนวน 390 คน
นายสุทธิชัย จรูญเนตร ประธานในพิธี กล่าวเปิดการประชุมผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศครั้งที่ 1/2564 ซึ่งถือเป็นผู้นําทางการศึกษา และเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจการศึกษา ในบริบทของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดียิ่ง การจัดประชุมสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นการสร้างความเข้าใจในการนํานโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะทําให้การปฏิบัติงานด้านการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ได้กําหนดนโยบายการจัดการศึกษา นโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ที่มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน รวมถึงโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาที่นักเรียนควรได้รับอย่างทั่วถึง ให้มีคุณภาพและเท่าเทียมกัน โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงศึกษาธิการ ได้กําหนดจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัด ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ สพฐ. จัดการประชุมผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ เพื่อที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับฟังข้อมูลในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทําให้เห็นภาพสะท้อนของการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ให้ประสบผลสําเร็จ อย่างมีประสิทธิภาพ และนําไปสู่การต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป”
นอกจากนี้ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ได้กล่าวบรรยายพิเศษในที่ประชุม ในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อาทิ มาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยความร่วมมือของสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาตรการใช้เงินอนาคต เช่น มาตรการยุบยอดหนี้ด้วยหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาตรการใช้เงินบำเหน็จตกทอด และมาตรการใช้เงินสะสมจากกองทุน กบข. เพื่อลดเงินต้นและลดการส่งยอดชำระหนี้ โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลหนี้สินเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ รวมถึงการควบคุมการรับรองเงินเดือน และการหัก ณ ที่จ่าย ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบทิศทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยให้นโยบายที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องนำไปขับเคลื่อน ดังนี้
1. การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด 19 ที่ฝากให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง นักเรียน ให้มีความเข้าใจในเรื่องการปรับการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด 19 ทั้งเรื่องการปรับชั่วโมงเรียน การยกเลิกการใช้คะแนน O-NET รวมทั้งขอให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาได้จัดทำแผนที่จะดำเนินการเปิดเรียน on-site ยึดพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นฐาน โดยต้องพิจารณาดำเนินการให้ครบถ้วนทุกกระบวนการตามคู่มือที่ สพฐ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับกรณีที่โรงเรียนเปิดเรียน on-site แล้ว ขอให้ดูความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียนที่จะมาเรียน ซึ่งหากผู้ปกครองยังไม่เชื่อมั่น โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานเพื่อให้นักเรียนได้เรียนครบทุกคน
สำหรับกรณีการใช้ชุดตรวจ ATK ขอให้ประสานกับอนามัยหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เข้ามาตรวจสอบคัดกรอง มีความห่วงใยและไม่อยากให้รับบริจาคชุดตรวจ ATK มาใช้ในการคัดกรอง และยังคงต้องดำเนินการตามมาตรการไทยเซฟไทย ทั้งนี้ การเปิด on-site ควรเน้นไปที่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนขนาดเล็ก สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเปิด on-site ทั้งโรงเรียน
2. การบริหารการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน ขอให้ดำเนินการแบบมีส่วนร่วม ใช้นวัตกรรมที่มีอยู่ โดยให้ประธานคลัสเตอร์ร่วมดำเนินการ โดยใช้นวัตกรรมที่มีอยู่ และเป็นผู้ประสานการทำงาน ซึ่งต้องมิใช่การบังคับบัญชา ทั้งนี้ การทำงานในแต่ละพื้นที่ให้มีการประสานงานระดับจังหวัดด้วย ในรายละเอียดการดำเนินการอาจแตกต่างกันได้ แต่ขอให้มีหลักการเดียวกัน
สำหรับการขับเคลื่อน สพฐ. ได้ออกแบบองค์ประกอบของการดำเนินงานไว้แล้ว ขอให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาได้ศึกษา และใช้กลไกการทำงานที่มีการประกันคุณภาพและมีการควบคุมคุณภาพ
3. นโยบายเรื่องความปลอดภัย/โอกาสและการลดความเหลื่อมล้ำ/คุณภาพ และประสิทธิภาพ
3.1 ความปลอดภัย มีเป้าหมายที่ต้องดำเนินการเฝ้าระวังจากโรคภัยต่าง ๆ โดยยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องโควิด 19 ภัยจากเทคโนโลยี ภัยจากภัยพิบัติ (อุทกภัย) และภัยจากยาเสพติด โดยขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีมาตรการที่เข้มงวด
3.2 การสร้างโอกาสและการลดความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ไปติดตาม ค้นหา จากการจ่ายเงิน 2,000 บาท ในกลุ่มเด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่สามารถจ่ายเงิน 2,000 บาทได้ ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กตกหล่นหรือออกกลางคันหรือไม่ ให้ติดตามช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบ โดยให้วางแนวทางค้นหาติดตามว่าเด็กอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร และจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร สำหรับกลุ่มที่มารับเงิน 2,000 บาท แต่มีความยากลำบาก ก็ให้วางแนวทางช่วยเหลือว่าต้องดำเนินการอย่างไร
3.3 คุณภาพ มุ่งหวังให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประกาศเป็นนโยบายของเขตพื้นที่ ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ รักการอ่าน คิดเลขเป็น โดยเฉพาะในระดับชั้น ป.1 ป.2 และป.3 ซึ่งหากเด็กอ่านออกเขียนได้ รักการอ่าน จะทำให้สามารถเรียนรู้วิชาอื่นได้ และค้นพบความชอบความถนัดของตัวเอง นอกจากนี้ยังได้ฝากเรื่องการคิดคำนวณ ขอให้บูรณาการเรียนการสอนให้ตรงกับการใช้ชีวิตประจำวัน สถานการณ์โควิด 19 ถึงแม้ว่าเป็นวิกฤตแต่ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้การคิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ไปพร้อมกับการสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการนำเอาปัญหาที่เกิดในหมู่บ้าน ในชีวิตประจำวันมาให้เด็กได้ฝึกแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นการเรียนการสอนแบบ active learning โดยการสร้างแรงบันดาลใจ จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ การสร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุด คือ ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน เรื่องของ 1 กีฬา 1 ดนตรี 1 อาชีพ จะทำให้เด็กมีรายได้ สร้างพื้นฐาน รวมทั้งเรื่องของระเบียบวินัย ความรับผิดชอบมีจิตอาสา กตัญญู ขอฝากให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ความสำคัญด้วย
3.4 ประสิทธิภาพ ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสังเคราะห์โรงเรียนในสังกัด ว่าอยู่ในโครงการใดบ้าง ซ้ำกันอย่างไร จริง ๆ แล้วมีโรงเรียนที่มีคุณภาพจำนวนเท่าใด จากนั้นขอให้ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้เกิดโรงเรียนคุณภาพ จำนวนกี่โรงเรียน และจะเริ่มจากโรงเรียนใดก่อน โดยกำหนดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หลีกเลี่ยงการพูดถึงการควบรวมโรงเรียนเนื่องจากอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปักหมดทำ timeline การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ ในสังกัด
จะทำอย่างไรให้โรงเรียนในสังกัดมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น เขตต้องกระตุ้นให้โรงเรียนหรือ เครือข่ายโรงเรียน ร่วมมือกับชุมชน ท้องถิ่นอย่างไร แสวงหาความมีส่วนร่วม ปักหมุดให้ชัดเจน โดยเฉพาะงบประมาณที่จะลงกลุ่มโรงเรียนคุณภาพ (โรงเรียนมัธยมคุณภาพ โรงเรียนประถมศึกษาคุณภาพ โรงเรียน Stand Alone และโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ) เมื่องบประมาณจัดสรรลงไปเพื่อพัฒนากายภาพแล้ว ให้ยกระดับคุณภาพ โมเดลจึงจะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ในเรื่องของผู้บริหารโรงเรียน การโยกย้าย กระบวนการพิจารณาส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้อำนวยการสำนักงานขตพื้นที่การศึกษา โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาเป็นผู้เสนอ มีการประเมินที่เป็นแบบเดียวกัน มีการกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน ต้องการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นอย่างไร เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนได้ตัวชี้วัดจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก็จะไปกำหนดตัวชี้วัดกับครู เมื่อครูสามารถทำได้ตามตัวชี้วัดที่กำหนดได้ มีผลทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ ดังนั้นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงต้องไปวางระบบ/ออกแบบ เรื่องประสิทธิภาพเป็นตัวนำก่อน ก็จะทำให้เรื่องปลอดภัย โอกาส คุณภาพ เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามมา
สำหรับนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและประชาสัมพันธ์ถึงจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ มีวิสัยทัศน์เป็นศูนย์กลางยางพารา การเกษตรก้าวหน้า การค้าอินโดจีน และท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง โดยมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมด้านการค้า การลงทุน ด้านเกษตรกรรม มีการแปรรูปสินค้าเกษตรและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเชิงวัฒนธรรม ในด้านการท่องเที่ยวนั้น จังหวัดบึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำนาคา ภูสิงห์ (หินสามวาฬ) วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) มีวัดโพธารามที่เป็นที่ประดิษฐานขององค์หลวงพ่อพระใหญ่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองบึงกาฬ มีน้ำตกถ้ำพระ และน้ำตกเจ็ดสี เป็นต้น ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการมาเยือนจังหวัดบึงกาฬในครั้งนี้ จะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน และได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประชุมตามที่ได้ตั้งใจไว้ทุกประการ
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024
- เสมา 2 ชื่นชม สพฐ. ปรับโฉมใหม่ ประชุม ผอ.สพท. เน้นผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน - 14 กันยายน 2024
- เสมา 1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ สั่งการเร่งช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัย - 13 กันยายน 2024