วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ผู้บริหารระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และนักเรียน ร่วมนำคณะทำงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ไปนิเทศ ติดตามเชิงประจักษ์ เพื่อให้เห็นสภาพจริงการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงเรียนชุมชนดอยช้าง สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 (สพป.เชียงราย เขต 2) จังหวัดเชียงราย
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้ริเริ่มโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) โดยมีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม จังหวัดเชียงราย โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเวียงมอกวิทยา จังหวัดลำปาง และโรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบูรณาการการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาการคำนวณกับการทำเกษตรแบบประณีตในโรงเรียน
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ภายในโรงเรียน โดย สพฐ. ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน จำนวนเงิน 1,200,000 บาท โดยรูปแบบการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการ ประกอบด้วย 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 รู้จักพื้นที่ (Area based research)
ระยะที่ 2 เรียนรู้วางแผน (Coding for Farm)
ระยะที่ 3 ริเริ่มปฏิบัติการ (Implementation)
ระยะที่ 4 รวบรวมพัฒนา (Development)
ระยะที่ 5 ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผล (Sharing)
สำหรับการนิเทศ ติดตามเชิงประจักษ์ในครั้งนี้ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (รมช.ศธ.) และคณะทำงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ทุกท่าน ในการนำเสนอความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามโครงการฯ ดังกล่าว ที่เน้นการสร้างองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน เข้ามาใช้ประโยชน์ ในภาคการเกษตร ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่ชุมชน โดยครูผู้สอนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา ประกอบด้วย การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ Coding For Farm มาใช้ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนในภาคการเกษตร
ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตร จะช่วยตรวจสอบปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการตรวจวัดปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างแม่นยำแล้ว จะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นและมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อนักเรียนเกิดองค์ความรู้ ก็สามารถจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ หรือสามารถต่อยอดไปถึงชุมชน โดยทางโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากทางภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) อาทิ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงวาวี, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ การนิเทศ ติดตามเชิงประจักษ์โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ณ โรงเรียนชุมชนดอยช้าง สังกัด สพป.เชียงราย เขต 2 จังหวัดเชียงราย ในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่สำคัญอันหนึ่งของโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยในอนาคต ทาง สพฐ. จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลักดัน ให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าภาคการเกษตร ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป
ด้านคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (รมช.ศธ.) กล่าวชื่นชมความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมของโรงเรียนชุมชนดอยช้าง โดยเฉพาะโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Smart Intensive Farming ที่ทำได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งที่โรงเรียนขาดแคลนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพดินไม่ดี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงชัน แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ได้ต้องมีการลงพื้นที่ศึกษาสังคม ภูมิศาสตร์ รู้ความต้องการของตลาดแล้วนำมาวางแผนจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นโครงการที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่เคยตรวจราชการมา สอบผ่านด้วยคะแนนเต็มร้อยคะแนน
สำหรับโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนของโรงเรียนชุมชนดอยช้าง สามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่โรงเรียนในเครือได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งให้ทุกคนพึ่งพาตนเองได้ ประชาชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันขอฝากให้ครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสอนสิ่งที่เด็กสนใจ สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ให้เกิดสมรรถนะ เรียนแล้วเกิดประโยชน์ สามารถออกไปแก้ปัญหาสังคม และสร้างมูลค่าขึ้นได้
โรงเรียนชุมชนดอยช้าง ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ประกอบด้วยชนเผ่าอาข่า ลีซู ไทยใหญ่ และจีนยูนนาน จัดหลักสูตรเกษตรอัจฉริยะโดยแบ่งเป็นทีมงานผลิต (กลุ่มผลิตพืชผัก กลุ่มผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือนดิน กลุ่มเลี้ยงไก่กระดูกดำ) ทีมงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ (กลุ่มผลิตเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตขนมและเบเกอรี่ กลุ่มผลิตอาหาร) ทีมงานออกแบบผลิตภัณฑ์ และทีมงานการตลาด มีการส่งผลผลิตออกขายให้ชุมชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงจนสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน รวมถึงเปิดร้านกาแฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณธีระเดช และภาพจาก ประชาสัมพันธ์ ศธ.
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2567 - 5 พฤศจิกายน 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมกิจกรรมยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน “9 เตรียมน้อม เตรียมความพร้อม เติมความรู้ สู่มหาวิทยาลัย” โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า - 4 พฤศจิกายน 2024
- สพฐ. ร่วมกิจกรรม “รื่นรมย์ สมฤดี 132 ปี กระทรวงศึกษาธิการ” (24 ตุลาคม 2567) - 24 ตุลาคม 2024