วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่สู่วิถีอนาคต” เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการอบรม Webinar ด้านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ให้กับครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พลตรี ศ.ดร.ศรศักร ชูสวัสดิ์ โรงเรียนนายร้อย จปร. คุณสุขุมา ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คุณศิรินุช ศรารัชต์ ผู้อำนวยการภาคธุรกิจการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รวมถึงหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. และศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบโปรแกรม Zoom Cloud Meetings
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) กำหนดให้การพัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง เป็นหนึ่งในนโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วน ที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการศึกษาในแต่ละช่วงเวลา แต่ละบริบท มีความสัมพันธ์กับสังคม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และเป็นวิชาที่เรียนรู้ความเป็นรากฐานของตนเอง และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง พัฒนา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเปรียบเทียบในการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของไทยและของโลก (Active Citizen) และการเรียนรู้จากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบัน โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เข้าใจเหตุและผลของการกระทำจากบริบทของอดีตในช่วงเวลานั้น เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลาย อีกทั้งวิธีการทางประวัติศาสตร์ทำให้ผู้ศึกษาได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะในการวิเคราะห์ การเข้าใจผู้อื่น การเคารพความแตกต่างของแต่ละบริบท และนำไปสู่ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาศาสตร์แขนงอื่นๆ จะเห็นได้ว่าคุณสมบัตินี้นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรในสังคมที่เจริญก้าวหน้าขึ้น
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สพฐ. ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง ของ รมว.ศธ. โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และดิฉัน เกศทิพย์ ศุภวานิช ให้ดำเนินงานขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นงานที่สำคัญและต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนการอบรมในโครงการ “Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่สู่วิถีอนาคต” ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 ซึ่งเริ่มต้นจากโรงเรียนคุณภาพของ สพฐ. จำนวน 349 โรงเรียน และขยายผลต่อไปยังโรงเรียนทั่วไป หลังจากมีการพัฒนาในกลุ่มของโรงเรียนคุณภาพ 349 โรงเรียนแล้ว ผ่านรูปแบบ Online Campus Platform โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานนำมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน อาทิ การให้ความอนุเคราะห์วิทยากรจากโรงเรียนนายร้อย จปร. แหล่งเรียนรู้จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ การผลิตสื่อที่ทันสมัยเช่น AR / VR จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และช่องทางการสื่อสารการอบรมจากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น โดยครูที่เข้ารับการอบรมจะได้รับการพัฒนาการสอน การสร้างสื่อและนวัตกรรม ในรูปแบบวิถีใหม่ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องทิ้งห้องเรียน ทำให้ครูสามารถนำเสนอสื่อการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทันสมัยเข้ากับวิถีของเด็กยุคใหม่ เช่น AR, Animation ทำให้เด็กได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวัน วันสำคัญต่างๆ ในบริบทที่ใกล้ตัวเด็กและครอบครัว รวมถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น ประเทศชาติ ประวัติศาสตร์โลก และประวัติศาสตร์พลเมืองโลก เพื่อศึกษาในประเด็นของการสร้างพลเมืองแห่งอนาคต และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ อีกทั้งยังสามารถนำผลการเรียนรู้มาแบ่งปันกับเพื่อนครูคนอื่นๆ ได้อีกด้วย
“ทั้งนี้ สิ่งที่อยากจะฝากให้กับทุกท่านคือทำอย่างไรที่จะให้คุณครูได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติในกิจกรรมของ Webinar ไม่ว่าจะเป็นสื่อ และรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้ง 12 เดือนนี้ ลงสู่นักเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีคุณภาพ เพื่อให้การเรียนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและน่าเรียนรู้สำหรับนักเรียนของเราทุกคน โดยเตรียมพร้อมร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันภายใต้การนำของ รมว.ศธ. ค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว