ศธ. – สพฐ. – สธ. ร่วมเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน”

วันที่ 10 มกราคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ  “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” โดยมีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และนายแพทย์ทรงเกียรติ  อุดมพรวัฒนะ โดยถ่ายทอดสดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องส่ง OBEC Channel อาคาร สพฐ.1 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการเปิดเรียนแบบ On-Site มาโดยตลอด เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุด แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (COVID-19) สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน (Omicron)” ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ศธ. จึงได้มอบหมายให้แต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในพื้นที่ สำหรับสถานศึกษาที่ตัดสินใจจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ On-Site จะต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด

สำหรับมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลาง กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ได้แก่ การประเมิน TSC+ รายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง, การทำ Small Bubble สำหรับกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย, การจัดอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ, การอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ, การทำ School Isolation โดยมีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม, การทำ Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน และการจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา

“ที่ผ่านมาการปิดประเทศ Lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ. จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ. ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ. เปิด On-Site จำนวน 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.09 และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง สิ่งที่พบคือ สถานศึกษามีการปรับตัวและกวดขันในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกันอย่างแข็งขัน แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ยังขาดความพร้อม ซึ่งก็ได้ติดตามและสั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดูแลสถานศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน จึงเป็นอีกวาระสำคัญที่ ศธ. และ สธ. ได้ร่วมมือกันสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงแนวโน้มความรุนแรงของโอมิครอน และกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอนในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ รวมถึงความพร้อมที่จะเปิด On-Stie ของทุกโรงเรียนเมื่อมีความปลอดภัย” นางสาวตรีนุช กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่าเป็นเชื้อโควิด-19 ที่ยีนกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง มีการระบาดครั้งแรกในกลุ่มประเทศแอฟริกาแล้วปัจจุบันได้เกิดการระบาดไปทั่วโลก มีแนวโน้มแพร่กระจายได้ง่ายกว่าไวรัส ซึ่งวัคซีนปัจจุบันสามารถป้องกันอาการรุนแรงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ ดังนั้น โรงเรียนสามารถเปิดเรียนแบบ On-Site ได้ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอนในสถานศึกษา ได้แก่ การเว้นระยะห่าง ไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน สำหรับห้องเรียนที่เป็นห้องแอร์ต้องมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม จัดการเรียนการสอนไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 และแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ นพ.สราวุฒิ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็กอายุ 5-11 ปี คือ ระยะเวลาส่งมอบวัคชีนจะเริ่มทยอยเข้ามาช่วงปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ของ SEA ที่ได้วัคซีนนี้ ส่วนการวางแผนฉีดจะเป็น School base โดยเริ่มจากเด็กโตไปยังเด็กประถมปลายลงมาตามลำดับ และสำหรับผู้ปกครองที่รอวัคซีนเชื้อตายเพื่อฉีดให้บุตรหลาน ขณะนี้ทาง อย. กำลังเร่งรัดการขึ้นทะเบียนวัคซีน Sinovac โดยอยู่ระหว่างรอผ่านมติอนุสร้างเสริมฯ ซึ่งผู้ปกครองและเด็กสามารถเลือกสูตรการฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ

ขณะที่ รศ.(พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้โรงเรียนเปิดเรียนแบบ On-Site โดยอ้างอิงถึงข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอนว่า ถึงแม้จะมีการระบาดเร็วมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 4-5 เท่า แต่ความรุนแรงยังไม่เทียบเท่ากับเดลต้า ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วมีแนวโน้มจะมีอาการรุนแรงคือกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดแล้วแต่ยังไม่ถึงวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว การตอบสนองต่อวัคซีนจะไม่เทียบเท่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งหากเราฉีดวัคซีนแล้วก็เหมือนมีเสื้อเกราะใส่ ที่จะไปสู้กับเชื้อโรคได้ ดังนั้นแนะนำประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดโดยเร็ว อีกข้อหนึ่งคือ ธรรมชาติของเชื้อโรคจะไม่สามารถกวาดล้างมนุษย์ให้หมดไปได้ เพราะถ้ามนุษย์ตายตัวเชื้อโรคมันก็จะตายไปด้วย มันจึงต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการปรับตัวที่ดีที่สุดคือ การปรับตัวให้อ่อนลงแต่สามารถไปได้ทุกที่ ไปที่ไหนก็ได้หมด นั่นคือหลักการของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งต่อไปก็คาดว่าอาจจะมีตัวใหม่เข้ามาอีก จนท้ายสุดพัฒนาไปจนคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจุดสิ้นสุดของโควิด-19 ก็น่าจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือเราอาจจะต้องฉีดวัคซีนกันทุกปี จากที่แต่เดิมเราฉีดวัคซีนห่างกัน 3-6 เดือน ในอนาคตอาจจะทิ้งช่วงห่างกันเป็น 1 ปีก็ได้

เช่นเดียวกับ นายแพทย์ทรงเกียรติ อุดมพรวัฒนะ ที่ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์การป้องกันการแพร่ระบาดภายในสถานศึกษา ซึ่งพบว่าเด็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ในบ้านมากกว่าที่จะติดจากโรงเรียน การมาโรงเรียนอาจเสี่ยงติดเชื้อน้อยกว่าอยู่ที่บ้าน พร้อมเปรียบเทียบกับบุคลากรในโรงพยาบาลเมื่อพบการติดเชื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องปิดโรงพยาบาลทั้งหมด ดังนั้น เราต้องปรับทัศนคติ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด เพราะในอนาคตก็อาจจะมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นมาอีกก็ได้ สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตัวเองตามมาตรการด้านความปลอดภัย ทั้งการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน เพราะหากโรงเรียนเปิดเรียนแบบ On-Site ได้ จะเป็นประโยชน์กับการเรียนของเด็กมากกว่าการเรียนแบบอื่นๆ

ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในห้วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เรามีการจัดรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ได้แก่ On-Site, On Air, Online, On Demand, และ On Hand ซึ่งใน 5 รูปแบบนี้เราทุกคนเห็นตรงกันว่ารูปแบบที่ดีที่สุดคือแบบ On-Site ซึ่งจากนโยบายที่ รมว.ศธ. ได้พยายามผลักดันให้เปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีโรงเรียนจำนวนมากที่สามารถเปิดเรียนแบบ On-Site ได้แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ดังนั้นสำหรับแนวทางในการเปิดเรียนเราขอจำแนกโรงเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่ยังไม่เคยเปิดเรียนแบบ On-Site มาเลยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เปิด On-Site อยู่แล้วก่อนปีใหม่ และจะมาปิดหลังปีใหม่นี้ สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่เคยเปิด On-Site แต่ทำการประเมินโรงเรียน 44 ข้อผ่านแล้ว ให้ส่งเรื่องมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัด เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ ศบค.จังหวัดให้ทำการอนุมัติ หาก ศบค.จังหวัดเห็นชอบก็สามารถดำเนินการเปิดเรียนต่อไปได้ โดยพิจารณาตามบริบทของพื้นที่ แต่หากโรงเรียนยังทำการประเมินไม่ผ่าน ก็ต้องประเมินตัวเองให้ผ่านเสียก่อน เพราะถึงแม้เราจะต้องการให้นักเรียนมาเรียนแบบ On-Site แต่ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุด

ในส่วนของโรงเรียนที่ ศบค. อนุมัติแล้ว ทางโรงเรียนต้องดำเนินการตามมาตรการ 6-6-7 อย่างเคร่งครัดด้วย โดยโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นม.1 ขึ้นไป ที่เด็กได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว หาก ศบค.จังหวัดอนุญาตให้เปิดได้ ก็สามารถเปิดเรียนแบบ On-Site ได้เลย ส่วนอีกกลุ่มคือนักเรียนชั้นอนุบาลจนถึงป.6 ที่ในตอนนี้ยังไม่ได้มีการฉีดวัคซีน หากผู้ปกครองและคนรอบข้างได้ฉีดวัคซีนแล้วก็มีความมั่นใจว่าเด็กจะปลอดภัย โดยในการพิจารณาเปิดเรียนนั้นขอให้มีการประชุมร่วมกัน และให้ใช้พื้นที่ตำบลและหมู่บ้านเป็นฐานในการเปิดเรียน ไม่ใช่คิดจากทั้งจังหวัด โดยมอบหมายให้ ผอ.สพท. เขต 1 เป็นตัวกลางในการพูดคุยร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางว่าจะเปิดเรียนได้เมื่อไหร่อย่างไร ในตอนนี้ที่เราต้องการคือให้เปิดเรียนได้ไวที่สุด เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องหยุดการเรียนรู้ แต่ในการเปิดเรียนนั้นก็ต้องมีความปลอดภัยด้วย

“ทั้งนี้เมื่อเปิดเรียนแล้ว สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัวของเด็กที่บ้าน รวมถึงระหว่างเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อมาถึงโรงเรียนแล้วทางโรงเรียนก็จะมีมาตรการคัดกรอง และมาตรการด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียน ผู้ปกครองจึงไม่ต้องเป็นกังวลในส่วนนี้ นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้เราช่วยกันคือ การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นเด็กม.1 ถึง ม.6 ซึ่งตอนนี้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้มากกว่า 90% แล้ว แต่หากได้มากกว่า 95% ก็จะดียิ่งขึ้นไป ขอให้ครูและผู้บริหารเป็นตัวอย่างสำหรับเด็กในการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนอย่างเร็วที่สุดครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สุดท้าย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวโดยสรุปว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ครูเป็นลำดับต้น ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งข้อมูลการวัคซีนโควิด 19 และการเปิดเรียนแบบ On-Site ของ ศธ. ณ วันที่ 8 มกราคม 2565 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ประสงค์รับวัคซีน 982,427 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 99.99% ได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 78.11% ส่วนนักเรียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 4,320,130 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 94.76% ได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 69.52% และขณะนี้รัฐบาลก็ได้รณรงค์ให้มีการฉีดเข็ม 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการเสวนาดังกล่าวได้ถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ทาง OBEC CHANNEL มีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้รับชมออนไลน์ 7,967 แห่ง และมีจำนวนยอดการแชร์กว่า 1,300 ครั้ง