วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์ HCEC เป็นฐาน ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสุตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ใหม่ จำนวน 6 แห่ง การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสนามหลวงและแผนกบาลีสนามหลวง และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในเรื่องของการพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) เป็นการตอบสนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการด้านการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะทางด้านภาษา ด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาครูตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพ และตอบจุดเน้นของ สพฐ. ในด้านคุณภาพการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งขณะนี้มีครูที่ได้รับการอบรมจำนวนมากกว่า 150,000 คน เมื่ออบรมไปแล้วก็จะได้ฝึกทักษะนำไปขยายผลสู่การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.บัณฑิต กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าหลักสูตรที่เราใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การจะนำหลักสูตรไปใช้ทั้งหมดแบบทันทีทันใดก็อาจจะยังไม่พร้อม โดยตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 467 โรงเรียน ซึ่งมีกฎหมายรองรับให้สามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีข้อสังเกตและมอบหมายให้ สพฐ. พิจารณาทำแผนขึ้นมาว่าโรงเรียนที่มีความพร้อมแต่อยู่นอกเขตพื้นที่นวัตกรรมหากมีความพร้อมก็เห็นควรที่จะเปิดโอกาสให้ทางโรงเรียนสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้ จากนั้นให้เสนอมายังที่ประชุม กพฐ. เพื่อทำการพิจารณา พร้อมเสริมว่า หลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถเน้นสมรรถนะได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของครูผู้สอน เช่นครูผู้สอนที่ผ่านการอบรมของศูนย์ HCEC ก็สามารถนำทักษะความรู้แบบ Active Learning มาจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะให้กับเด็กได้
“ในส่วนของหลักสูตรฐานสมรรถนะในขณะนี้ยังเป็นเพียง (ร่าง) หลักสูตรฯ ที่อยู่ในขั้นการทดลองใช้ ซึ่งทาง สพฐ. ก็ได้นำเรียนความคืบหน้าว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ในที่ประชุมก็ได้มีการอภิปราย ตั้งข้อสังเกต ให้คำแนะนำ ซึ่งเราเห็นพ้องต้องกันว่าการเน้นสมรรถนะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เข้ากับยุคสมัย ซึ่งตอนนี้ได้มีการทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นอกจากนั้น ที่ประชุมเห็นว่าหากโรงเรียนใดที่มีความพร้อมต้องการทดลองใช้หลักสูตร เราก็จะเปิดโอกาสโดยให้ สพฐ. ทำแผนนำเสนอมายังที่ประชุม กพฐ. แล้วเราจะพิจารณาต่อไป” ประธาน กพฐ. กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่กฎหมายเฉพาะ ที่ให้สามารถเลือกทำหลักสูตรได้ 4 แนวทาง ดังนั้นพื้นที่นวัตกรรมจะเลือกแนวทางของหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2560 ที่มี 5 สมรรถนะนำไปต่อยอดก็สามารถทำได้ หรือจะนำ 6 สมรรถนะใน (ร่าง) หลักสูตรฯที่ทำขึ้นใหม่ไปใช้ก็ได้ หรือจะคิดหลักสูตรของตัวเองขึ้นมาก็ได้เช่นกัน ดังนั้นพื้นที่นวัตกรรมจึงทำขึ้นมาเพื่อทดลองว่าหลักสูตรรูปแบบวิธีการไหนที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ จึงเปิดช่องให้เลือกทำได้หลากหลายวิธี ซึ่งมีโรงเรียน 5 แห่งที่เลือกนำ (ร่าง) หลักสูตรฯใหม่ไปทดลองใช้อยู่
“ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน เป้าหมายก็คือการเสริมสร้างสมรรถนะให้กับเด็กนักเรียนของเรา เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เราสามารถหาสาระวิชาความรู้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยมีหลักสูตรเป็นโครงชี้นำแนวทาง ในส่วนนี้ครูผู้สอนจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ก็ได้เน้นย้ำว่าทำอย่างไรการเรียนแบบ Active Learning จะสามารถทำได้จริง เพราะ Active ไม่ใช่การป้อนให้นักเรียนฝ่ายเดียว ครูต้องเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่แนะแนวให้กับเด็กๆ และสอนให้เด็กนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งทาง สพฐ. ก็จะเร่งพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์ HCEC เป็นฐาน เพื่อให้ครูมีความพร้อมให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. ร่วมมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี และพันธมิตรองค์กรภาคเอกชน ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม - 15 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันนวมินทรมหาราช พุทธศักราช 2567 - 13 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024