วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2564 ณ สนามสอบโรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี เพื่อติดตามการจัดสอบและมาตรการด้านความปลอดภัยภายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และผู้บริหารของ สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีความห่วงใยผู้เข้าสอบและคณะทำงานในด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมสนามสอบโรงเรียนชลกันยานุกูลในวันนี้ พบว่าสามารถจัดการสอบได้เป็นอย่างดี มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการคัดกรองผู้เข้าสอบ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่าง Social Distancing อย่างเคร่งครัด โดยตัวเลขผู้มีสิทธิสอบในจังหวัดชลบุรี มีจำนวน 4,670 คน ใช้สนามสอบ 9 แห่ง ใช้ห้องสอบทั้งหมด 196 ห้อง และจัดห้องสอบสำรองสำหรับกลุ่มเสี่ยงทุกสนามสอบ
ขณะที่ในภาพรวมของการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในระดับประเทศ มีผู้มีสิทธิสอบรวมทั้งสิ้น 173,976 คน กลุ่มวิชาที่สอบมี 71 กลุ่มวิชา มีตำแหน่งว่าง 11,877 อัตรา จำนวนสนามสอบทั่วประเทศ 266 สนาม และจังหวัดที่มีผู้มีสิทธิเข้าสอบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.นครราชสีมา จำนวน 8,276 คน 2.กรุงเทพมหานคร จำนวน 8,025 คน 3.ศรีสะเกษ จำนวน 5,195 คน 4.เชียงใหม่ จำนวน 5,109 คน และ 5.สุรินทร์ จำนวน 4,955 คน
“สำหรับการสอบเราจะเน้นใน 2 เรื่อง คือ เรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นคนออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประเมินผล เพื่อไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนเข้าห้องสอบก็จะให้ผู้เข้าสอบเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ให้นำเข้าไปด้วย อีกเรื่องคือมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยจัดห้องสอบห้องละไม่เกิน 25 คน พร้อมมาตรการคัดกรอง สวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดห้องสอบสำรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากรายงานวันนี้พบผู้เข้าสอบที่ผลตรวจ ATK เป็นบวก 1 ราย ก็ได้ให้แยกตัวเข้าสอบเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบฯ ที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิสอบ 1,527 คน มาเข้าสอบ 1,242 คน และขาดสอบ 285 คน โดยนายอัมพร กล่าวว่า ก่อนการจัดสอบได้มีการประชุมทางไกลซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินการสอบแข่งขันฯ กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตที่มอบหมายให้เป็นคณะกรรมการดำเนินการสอบของจังหวัดและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และได้กำชับเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริต เพื่อให้การสอบแข่งขันเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รวมทั้งการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้มีสิทธิสอบเลือกสอบจังหวัดที่อาศัยอยู่ปัจจุบันหรือที่ทำงานปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้เข้าสอบในการเดินทางไปสอบในจังหวัดที่ได้ยื่นใบสมัครไว้
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่สนามสอบโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนนครขอนแก่น โรงเรียนอนุบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น / นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่สนามสอบโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต โรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา โรงเรียนเมืองกระบี่ จ.กระบี่ และโรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง / นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่สนามสอบโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ โรงเรียนอนุบาลกาญจนบุรี โรงเรียนเทพมงคลรังษี โรงเรียนวัดใต้ โรงเรียนวิสุทธรังสี และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ จ.กาญจนบุรี / นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่สนามสอบโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” โรงเรียนแสนสุข โรงเรียนชลราษฎรอำรุง และโรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี / นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่สนามสอบโรงเรียนบ้านสันโค้ง โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย และโรงเรียนพะเยาพิทยา จ.พะเยา
ทั้งนี้ การสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2564 ได้กำหนดจัดสอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับการประกาศผลสอบ ภาค ก และภาค ข จะประกาศผลภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ผู้สอบผ่านเข้ารับการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา ซึ่งผู้เข้าสอบต้องรับการประเมินจากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการสาธิตการปฏิบัติการสอน ตามวันและเวลาที่ กศจ. และ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษกำหนด
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024