ศธ. จับมือ 10 หน่วยงานทำ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย”

“ตรีนุช” นำทีม ศธ. จับมือกับ 8 กระทรวง 2 หน่วยงานใหญ่ ทำ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” พร้อมเปิดตัวศูนย์ “ MOE SAFETY CENTER” อย่างเป็นทางการ แจ้งเหตุได้ถึง 4 ช่องทาง

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ 8 กระทรวง 2 หน่วยงาน และพิธีเปิด “โครงการเสริมสร้างสมรรถนะนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีทักษะชีวิตในศตวรรษ ที่ 21” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายสมชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมในพิธี ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า นับตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ. ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา เรื่องความปลอดภัยจึงได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแรกใน 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะตระหนักดีว่าหากสถานศึกษาไม่มีความปลอดภัยแล้ว จะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้แก่ผู้เรียนได้ และยังส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของไทย รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ศธ. จึงได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือในโครงการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ในครั้งนี้ขึ้น เพราะทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญร่วมกันว่า มีความจำเป็นอย่างสูงสุดในการจัดการปัญหา ความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียน และเยาวชน ใน 4 ด้าน ได้แก่ ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ ซึ่งความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัย เหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และ ศธ. เองก็มีความมุ่งมั่นในการจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ กระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาเด็กและเยาวชนไทย

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้พัฒนาระบบการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ใช้ชื่อว่าศูนย์ “MOE SAFETY CENTER” โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นแอปพลิเคชั่นในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย และได้พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัดของ ศธ. ให้มีความรู้ มีความเข้าใจในการใช้งานระบบ เพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยที่มีผลต่อนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงให้ความสำคัญกับการอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ มีทักษะที่จะนำไปสื่อสารกับเด็กในวัยเรียน ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างความปลอดภัย แบบคู่ขนานกัน

“วันนี้ถือเป็นการเปิดตัวศูนย์ MOE SAFETY CENTER อย่างเป็นทางการ โดยสามารถแจ้งเหตุได้ 4 ช่องทาง คือ ผ่านทางแอปพลิเคชั่น MOE Safety Center , ทางเว็บไซต์ www.MOESafetyCenter.com , ทางแอปพลิเคชั่น LINE @MOESafetyCenter  หรือที่ call center 0-2126-6565 ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ สพฐ. ที่ได้ขยายแนวทางปฏิบัติงาน ซึ่งช่วยให้ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น ได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยง และความรุนแรง แก้ไขได้ถึงแหล่งต้นตอของปัญหา มีการติดตามความคืบหน้า มีความเป็นธรรมและโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย โดยมีการรายงานการแก้ไขปัญหาแบบ Real-time ที่สำคัญได้เก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษาและด้านความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่  เพื่อขยายผลในการป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ด้วย” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ 8 กระทรวง และ 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

“สำหรับกระบวนการทำงานนั้น เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาเราต้องดูว่าเด็กอยู่ในความรับผิดชอบของใคร จากนั้นเราจะแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับยาเสพติด เราจะดูว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหนแล้วจึงประสานไปที่หน่วยงานนั้น หรือหากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน เราก็สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยครูและนักจิตวิทยาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน ทั้งนี้ การดำเนินงานตอนนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ ในเบื้องต้นเราก็ต้องให้ความรู้กับครูและบุคลากรก่อน เพื่อให้ครูสื่อสารไปยังนักเรียนและผู้ปกครองให้เข้าใจว่า เราสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร และสามารถใช้งานได้อย่างไร แล้วเราจะใช้ระบบนี้ไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการให้ความรู้กับครู ไปจนถึงเด็กและผู้ปกครอง จากนั้นเมื่อเริ่มการใช้งานแล้ว ก็จะมีการเก็บสถิติว่ามีการแก้ปัญหาได้จำนวนเท่าไหร่อย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาระบบต่อไปครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว