ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อน “สถานศึกษาปลอดภัย” ระดับภูมิภาค

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ทปษ.รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา “สถานศึกษาปลอดภัย” ระดับภูมิภาค ณ โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมี นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ และนายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี ทั้ง 5 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมในพิธีเปิด

นายสุทธิชัย จรูญเนตร กล่าวว่า ความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากสถานศึกษาไม่มีความปลอดภัย การเรียนการสอนก็จะมีคุณภาพไม่ได้ เพราะทั้งผู้เรียนและผู้สอนจะมีความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ทำให้มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย นักเรียนอุ่นใจ” และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการตามนโยบาย และได้มีงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยการเปิดตัวในครั้งนี้ นอกจากทางกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและมีการลงนามความร่วมมือเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาภายในสถานศึกษาในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการสร้างระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยที่จะเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา ผ่านระบบ MOE SAFETY CENTER ที่ช่วยทำให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน จะได้มีเครื่องมือที่สามารถแจ้งเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาหรือนอกสถานศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนและบุคลากรทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับช่องทางการแจ้งเหตุ สามารถแจ้งได้ตลอดเวลาผ่านทางแอปพลิเคชัน MOE SAFETY CENTER หรือจะเป็นการแจ้งผ่านทางเว็บไซต์ ทางแอปพลิเคชัน LINE และระบบ Call Center เพื่ออำนวยความสะดวกในการแจ้งเหตุอีกหนึ่งช่องทาง นอกจากนี้ ผู้ที่แจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยเข้ามา ยังสามารถติดตามสถานการณ์ดำเนินงานในการแก้ปัญหา และระบบนี้ยังช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาและการแจ้งต่างๆ มีหลักฐานในการดำเนินงานอย่างชัดเจน ซึ่งทาง รมว.ศธ. ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงานและดึงเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องที่สำคัญ หรือจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมที่อาจจะใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหายาวนาน กลายมาเป็นการแจ้งเหตุรูปแบบดิจิทัล ที่ช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อความต้องการของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี 

“การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของความปลอดภัยสถานศึกษา เริ่มในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดแรก ซึ่งเป็นที่ที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ เพราะเปรียบเสมือนความรักความห่วงใยที่ รมว.ศธ. มีให้กับทุกคนในระบบการศึกษา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนจะร่วมมือกันขยายผลความปลอดภัยจากสถานศึกษาไปสู่ชุมชน สังคม และขยายผลด้านความปลอดภัยให้กับประเทศในอนาคตต่อไป” นายสุทธิชัย กล่าว

ทางด้าน นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ กล่าวว่า นโยบายของ รมว.ศธ. เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาในปี 2564-2565 เป็นวาระเร่งด่วน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อทำให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเกิดความรู้สึกสบายใจ อุ่นใจ และวางใจ ว่าสถานศึกษาจะสามารถดูแลให้เด็กมีความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี  โดยทาง สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการสร้างระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัย ที่จะเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษาที่จะเชื่อมโยงกับบุคลากรและศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE SAFETY CENTER  ให้การรับเรื่องแจ้งเหตุ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารจากส่วนกลาง สามารถเห็นรายงานการแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้

นอกจากระบบ MOE SAFETY CENTER จะพร้อมใช้งานเพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาแล้ว ทาง สพฐ. ยังได้จัดการอบรมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในการใช้งานแอปพลิเคชันตัวนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับทุกคน โดยประเมินทดสอบความเข้าใจในการใช้ระบบจับบุคลากรทางการศึกษาจนมีครูที่ผ่านการอบรมและผ่านบททดสอบระดับคะแนน 70% ได้จำนวนมากถึง 157,815 คน ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาทั้งระบบและบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินการด้านสถานศึกษาให้มีความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการจัดงานในวันนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดความรู้สึกปลอดภัยแล้ว คุณภาพการศึกษาที่นักเรียนทุกคนจะได้รับก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

.

“ทั้งนี้ นอกจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังได้รับเกียรติจากกระทรวงต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และสำนักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนรายการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น โดยเริ่มจากสถานศึกษา และขยายวงไปสู่ผู้คนในสังคม ในแต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้กับแต่ละพื้นที่ ถือเป็นการร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ให้กลายเป็นประเทศที่มีความสุขและน่าอยู่” นายเทอดชาติ กล่าว