ศธ. – สพฐ. เปิด “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ณ จังหวัดบึงกาฬ

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” โดยมี นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬ คุณครูและนักเรียน เข้าร่วมในพิธี ณ โรงเรียนปากคาดพิทยาคม จังหวัดบึงกาฬ

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ในฐานะคุณแม่คนหนึ่ง ดิฉันเชื่อมั่นว่าวันนี้ เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเรา จะได้รับการช่วยเหลือดูแลสอดส่อง เพื่อให้เต็กและเยาวชน มีความปลอดภัยในชีวิตทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนในจังหวัดบึงกาฬ ที่ดิฉันมั่นใจว่าจะได้รับการดูแล และได้รับความช่วยเหลือจากทุกคน ทุกฝ่าย เพราะวันนี้เรามีศูนย์ MOE Safety Center ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ซึ่งจะเป็นกลไกในการรับแจ้งข่าวสารที่จะเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กๆ และน้องๆ ในสถานศึกษา นอกเหนือจากช่องทางการแจ้งข่าวสารอื่นๆ ที่มีอยู่ โดยเรามีแอปพลิเคชันที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งทุกคนสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาผ่านโทรศัพท์มือถือของทุกคนได้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับทราบความเสี่ยง หรือความไม่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยง และความรุนแรง แก้ไขได้ถึงแหล่งต้นตอของปัญหา มีการติดตามความคืบหน้า มีความเป็นธรรม และโปร่งใสกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ จะมีการรายงานและติดตามการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที หรือแบบ Real-time ที่สำคัญทุกข้อมูลที่ได้รับจะจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนเพื่อขยายผลในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ความปลอดภัยของเด็ก และเยาวชนของเราใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ 2) ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ 3) ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และ 4) ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ เป็นภัยที่เราทุกคนต้องช่วยกัน “ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม” เพื่อมิให้เป็นเหตุร้ายเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ซึ่งความเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นในสภาพสังคมปัจจุบันที่ซับซ้อนตลอดเวลา และเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ซึ่งมีงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ชัดเจนว่า หากสถานศึกษาไม่มีความปลอดภัยแล้ว จะไม่สามารถ

จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้กับผู้เรียนได้ องค์การอนามัยโลก หรือกฎหมายของประเทศเรา รวมถึงนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ความปลอดภัยเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่จะต้องถูกกำหนดให้เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้ และรัฐต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการให้ทุกคนได้รับตามสิทธินั้น รวมถึงสถานศึกษาต้องจัดให้เกิดความปลอดภัยขึ้นในโรงเรียนอย่างชัดเจน

“ดังนั้น การมีศูนย์ MOE Safety Center ครั้งนี้ จึงเป็นภารกิจส่วนหนึ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันเพื่อเดินหน้า และสร้าง “สถานศึกษาปลอดภัย นักเรียน นักศึกษา อุ่นใจ” เราต้องช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้เด็กตั้งแต่ก่อนที่เด็กคนแรกจะมาถึงโรงเรียน จนกระทั่งเด็กคนสุดท้ายออกจากบริเวณโรงเรียน เราต้องทำให้ผู้ปกครองและทุกภาคส่วนเกิดความมั่นใจ และเกิดความพึงพอใจ ดิฉันขอเป็นกำลังใจในการทำหน้าที่เพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา และอยากเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมผนึกกำลัง ร่วมกันเป็น “สายตรวจทางสังคม” เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ดิฉันเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่งค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายอัมพร พินะสา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีมาตรการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การป้องกัน การปลูกฝัง และการปราบปราม เพื่อให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกสบายใจ อุ่นใจ และไว้วางใจว่าสถานศึกษาจะสามารถดูแลให้นักเรียนมีความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สพฐ.ได้สร้างระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยที่จะเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะเชื่อมโยงกับบุคลากรและศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE Safety Center ให้การรับเรื่องแจ้งเหตุเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารจากส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ก็สามารถเห็นรายงานการแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้

นอกจากระบบแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน MOE Safety Center จะพร้อมใช้งานเพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาแล้ว สพฐ. ยังได้จัดการอบรมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความพร้อมในการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดยการทดสอบความเข้าใจการใช้งานแอปพลิเคชัน จนมีครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านการทดสอบระดับคะแนน 70% ขึ้นไป จำนวน 157,815 คน เพื่อรองรับการดำเนินการสถานศึกษาปลอดภัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก 8 กระทรวง 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นโดยเริ่มจากสถานศึกษา และขยายวงไปสู่ผู้คนในสังคมในแต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้กับแต่ละพื้นที่ และถือเป็นการร่วมมือกันพัฒนาประเทศให้กลายเป็นประเทศที่มีความสุขและน่าอยู่

“พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้จัดงานสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี บึงกาฬ เชียงราย ราชบุรี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สระบุรี และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งการจัดงานที่จังหวัดบึงกาฬในวันนี้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในความสำคัญของความปลอดภัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาชาติ โดยกิจกรรมในวันนี้ มีทั้งภาพยนตร์สั้นซึ่งสะท้อนเรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในสถานศึกษา เป็นตัวอย่างของปัญหาที่สามารถใช้แอปพลิเคชัน MOE Safety Center ในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย รวมทั้งการจัดกิจกรรมสาธิตด้านความปลอดภัยของโรงเรียนปากคาดพิทยาคม และมีศิลปินดาราผู้มีประสบการณ์ตรงด้านความไม่ปลอดภัยในอดีตได้มาถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสถานศึกษาปลอดภัยในวันนี้ด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว