โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระโรงเรียนดีข้างชายขอบ อ.พบพระ จ.ตาก กับการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในยุควิถีใหม่ วิถีคุณภาพ

ดร.ภูรินท์ ชนิลกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง กับการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนและพัฒนาโรงเรียน เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ของมาของนวัตกรรม มาจากความต้องการที่หลากหลายในการเรียนรู้ของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในห้องสี่เหลี่ยมไม่ได้ตอบโจทย์และความต้องการของผู้เรียนในยุคปัจจุบันและที่สำคัญวันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ เราได้เห็นการเรียนรู้ที่เป็นรูปแบบใหม่ วิถีชีวิตใหม่เกิดขึ้น  ดังนั้นโรงเรียนก็ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สิ่งหนึ่งในฐานะผู้บริหารที่สามารถทำได้เลย คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้และพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ส่งเสริมและสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งเขาสนใจ จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม “การพัฒนาระบบนิเวศเชิงความรู้โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระโดยใช้แนวคิด NSITT สู่โรงเรียนดี วิถีคุณภาพ”

ระบบนิเวศเชิงความรู้คืออะไร ? คือ ระบบที่จะเกื้อหนุนและสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและความต้องการร่วมกัน ภายในพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่โรงเรียนพัฒนาขึ้น ทันสมัย สวยงามมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ (Inspirations Space) พื้นที่การพบปะ (Meeting Space) และพื้นที่การแสดงออก (Performative Space) ระบบนิเวศเชิงความรู้ (Knowledge Eco system) จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน แนวคิด NSITT สู่โรงเรียนดี วิถีคุณภาพ 5 ข้อ ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนระบบนิเวศเชิงความรู้ประสบความสำเร็จ ได้แก่

N (Navigable) การมีตัวนำทางหรือตัวแบบที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนเดินทางไปสู่จุดหมายได้อย่างตรงเป้า เช่น การมีบุคคลตัวอย่าง (Role Model) จะช่วยแนะนำการเรียนรู้แบบต่อยอดเพื่อพัฒนาได้จริงในอนาคต การนำทางที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ตรงเป้าหมาย รวมทั้งช่วยให้มองเห็นโอกาสที่ง่ายขึ้น

S (Supportive) การได้รับการสนับสนุนรอบด้าน จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขอุปสรรคจากการเรียนรู้ได้ พร้อมที่จะก้าวสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านสื่อและเทคโนโลยี การให้คำแนะนำ การจัดกิจกรรมของครู ช่วยให้ผู้เรียนรู้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ

I (Integrated) ผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการหรือความพร้อมที่แตกต่างกัน บางคนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ ในขณะที่บางคนอาจมีข้อจำกัดหลายอย่างเป็นตัวแปรที่อาจทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไม่เต็มที่ จึงจำเป็นต้องมีการผสมผสานและบูรณาการรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล

T (Targeted) ผู้เรียนควรได้เรียนรู้ตรงตามความต้องการและจุดมุ่งหมายในเวลาที่เหมาะสม ด้วยทักษะและวิธีการที่ใช่ หากเรียนแบบไม่รู้จุดมุ่งหมาย ไม่เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการจริงๆ อาจทำให้เสียเวลา เสียโอกาสในการเรียนรู้ หรือคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่อันเป็นประโยชน์

T (Transparent) การให้ความรู้ ให้ทุกคนเลือกเรียนในสิ่งที่เขาต้องการ ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทั้งผู้ให้ความรู้และผู้เรียนรู้ ใครพร้อมหรือต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรก็มีสิทธิที่จะได้เรียน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษาและกระบวนการต่อยอดการเรียนรู้ในการทำงานหรือศึกษาต่อในอนาคต

เป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาวัตกกรม คือ โรงเรียนมีระบบนิเวศเชิงความรู้หรือแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน โดยครูเป็นผู้สนับสนุนในการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็น Activities Learning หรือการจัดการเรียนรู้แบบ Problem-based Learning และที่สำคัญการสนับสนุนจากเครือข่าย

เด็กหญิงสุธีธิดา วัฒนะ นักเรียนชั้น ป.3/1 เล่าว่า ดีใจที่โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มาโรงเรียนแล้วมีความสุข ได้ฝึกเป็นไกด์ ได้เรียนทั้งภาษาพม่า ภาษาจีน ในศูนย์การเรียนรู้เหมือนอยู่เมืองจีนและที่ชอบมาก คือ ห้องสมุดมีมุมให้อ่านหนังสือ มุมอินเตอร์เน็ต ได้เล่นเกมกระดานกับเพื่อน เหนื่อยก็นอนพักได้

นายสุพจน์ จักแก้ว กำนันตำบลพบพระ เล่าว่า ต้องขอบคุณครูและผู้บริหารที่พัฒนาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เห็นภาพความตั้งใจของครู ผู้บริหารแล้วเราในฐานะคนในพื้นที่ต้องช่วยสนับสนุน เพราะที่นี้คือบ้านของเรา แหล่งเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเป็นประโยชน์มาก เช่น ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พบพระ คือ เมืองเกษตรกรรมเด็กได้เรียนรู้แล้วแน่นอนสามารถเอาไปต่อยอดได้ในอนาคต

นายญาณวุฒิ  วงศ์ใหญ่สินศิริ ศึกษานิเทศก์ประจำพื้นที่ เล่าว่า ผู้บริหารนำนวัตกรรมมาใช้แล้วพัฒนาโรงเรียนได้ดีมาก เพราะระบบนิเวศเชิงความรู้สอดคล้องกับศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เข้าใจคน เข้าใจบริบทพื้นที่ เข้าถึงเครือข่ายที่หลากหลาย เข้าถึงชุมชน พัฒนาจนเป็นที่ประจักษ์และครูมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ นักเรียนพัฒนาตนเองเป็นคนเก่ง คนดีอยู่ในสังคมได้  

ศตายุ วาดพิมาย : เรื่อง/ภาพ