สพฐ. ประชุมชี้แจงบทบาทความร่วมมือการดำเนินงานโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ประจำปี 2565

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมชี้แจงบทบาทความร่วมมือการดำเนินงานในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ประจำปี 2565 เพื่อชี้แจงภาพรวมยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สพฐ. รวมถึงอธิบายแผนการดำเนินงานระบบฐานข้อมูลสถานศึกษา และการระดมทุนออนไลน์ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนะนำแนวทางการใช้สื่อ แอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนยุคดิจิทัล โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูกลุ่มโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี(ภายใต้การดูแลของ สพฐ.) จำนวน 2,804 โรงเรียน เข้าร่วมการประชุมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ VROOM VDO Conference

นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาร่วมการประชุม ซึ่งเป็นกลไกที่จะพัฒนาโรงเรียนให้เกิดคุณภาพ เพราะโรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญที่จะขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ แต่โดยสภาพปัจจุบันนี้ เราจะเห็นได้ว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีเป็นจำนวนมากเกือบ 3 หมื่นโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีกลไกทางราชการเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดเรื่องอัตรากำลัง ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ หรือการบริหารปัจจัยอื่นๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนให้โรงเรียนนั้นมีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการให้โรงเรียนมีคุณภาพ เราต้องขับเคลื่อนในหลายมิติ มิติหนึ่งคือเรื่องคุณครู ที่ต้องการให้ครบวิชาครบชั้น อีกมิติคือเรื่องหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ มีการเรียนการสอนที่ดี มีสื่อการเรียนการสอนที่พร้อม มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่ประเทศไทยกำลังแบกรับอยู่ในขณะนี้ จึงไม่สามารถสนับสนุนโรงเรียนทุกโรงให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันได้

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทางมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี ซึ่งเป็นภาคเอกชนได้เข้ามาสนับสนุนในการเพิ่มโอกาส เพิ่มปัจจัยที่จะสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทางมูลนิธิฯได้ระดมสรรพกำลังจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ เข้ามา ช่วยเหลือ ซึ่งเรามีโรงเรียนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือโรงเรียนที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิฯ ที่มีพาร์ทเนอร์เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนที่จะเข้ามาช่วยสำรวจปัจจัยพื้นฐาน หรือข้อมูลเพื่อประกอบการบริหารจัดการ และแสวงหาวิธีการที่จะมาแก้ไขด้วยนวัตกรรม และขับเคลื่อนโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนบางส่วน แต่ไม่มีพาร์ทเนอร์ที่เข้าไปร่วมบริหารจัดการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโรงเรียนที่มีพาร์ทเนอร์จะสามารถขับเคลื่อนการจัดการศึกษาได้ดีมีคุณภาพ วันนี้ก็ได้ทราบว่าทางมูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโรงเรียนทุกโรงที่เป็นสมาชิก จึงได้จัดโครงการที่จะให้โรงเรียนที่มีพาร์ทเนอร์ และประสบผลสำเร็จ ได้ถอดบทเรียนนำมาต่อยอดขยายผลในโรงเรียนที่ไม่มีพาร์ทเนอร์ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ไปใช้ เสมือนว่ามีโรงเรียนพาร์ทเนอร์ร่วมด้วย ผมคิดว่าเราต้องยืนอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราไม่สามารถรอให้มีอะไรพร้อมทุกอย่างจึงจะขับเคลื่อนการศึกษาได้ เพราะวันนี้เราอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง เราจึงต้องบริหารจัดการให้ดีภายใต้วิกฤตนี้ โดยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้ปัญหากลายเป็นนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้ ความมุ่งมั่นทุ่มเท รวมทั้งเทคนิควิธีการต่างๆ ด้วย

“ในโอกาสนี้ ผมขอส่งกำลังใจและเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหารและคุณครูทุกคนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ที่จะได้รับข้อมูลทางด้านเทคนิควิธีการนำไปปรับประยุกต์ใช้กับแต่ละโรงเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดคุณภาพแก่ผู้เรียน และขอขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ให้ความสำคัญ เสียสละเข้ามาร่วมมือในการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับ สพฐ. ในวันนี้ ซึ่งหลายฝ่ายหลายกลุ่มต่างก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนคุณภาพให้กระจายไปในประเทศของเราได้มากที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ ผมคิดว่าวันนี้ ด้วยภาวะวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน การศึกษาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนไทย ขอให้ทุกฝ่ายขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันอย่างเต็มความสามารถครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว