เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2565 พร้อมมอบนโยบายเรื่องความปลอดภัย โรงเรียนคุณภาพ และโครงการพาน้องกลับมาเรียน พร้อมด้วย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารหน่วยงานหลักของ ศธ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 245 เขต สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด สำนักงาน กศน.จังหวัด และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด 5 จังหวัด (สงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล นราธิวาส) เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Video Conference
นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ ตนต้องการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้แก่หน่วยงานระดับปฏิบัติในเขตพื้นที่ ในด้านนโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการพาน้องกลับมาเรียน ความปลอดภัยในสถานศึกษา โรงเรียนคุณภาพชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งตนอยากให้ทุกนโยบายเหล่านี้มีการบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร่งสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ คือการที่เด็กนักเรียนมาโรงเรียน และมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคุณครู เพราะ ศธ. มีนโยบายเปิดการเรียนการสอนแบบ On Site หากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องมีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจน หากต้องปิดการเรียนแบบ On site ให้ทำเท่าที่จำเป็น ให้หยุดเฉพาะเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อ หยุดเป็นห้องเรียน มีการเรียนสลับเวลา สลับชั้น ตามมาตรการ 6-7-6 และมาตรการฉุกเฉินต้องถูกกำชับและเข้มงวด
ส่วนโรงเรียนคุณภาพในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาส มีเป้าหมายเพื่อการสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยจัดทำแนวทางและแผนการสร้างโรงเรียนคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถเกิดขึ้นได้จริงภายใต้กรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน ต้องมีข้อมูลว่าโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนหลัก และโรงเรียนใดบ้างที่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน เราต้องมั่นใจว่าโรงเรียนหลักได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง
“พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้เตรียมดำเนินโครงการสอนเสริมให้นักเรียนช่วงปิดภาคเรียนที่ 2/2564 เนื่องจากตลอดภาคเรียนที่ผ่านมานักเรียนอาจเรียนที่โรงเรียนไม่เต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงมอบหมายให้สถานศึกษาทั่วประเทศดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น เช่น นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูอาจสอนเสริมเพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และนักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น ครูอาจเน้นในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการนี้ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ปกครองและนักเรียนด้วย ต้องไม่มีการบังคับเรียนค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ครั้งแรกที่หน่วยปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ ได้เข้ามารับฟังนโยบายจาก รมว.ศธ. ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ทั้งเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา โรงเรียนคุณภาพ โครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญกับเด็กและผู้เรียน พร้อมทั้งส่งกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่ต้องปฏิบัติงานอย่างหนักในภาวะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก โดยเฉพาะการสอนเสริมให้เด็กที่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธีการ แต่มีเป้าหมายหลักคือต้องส่งเสริมเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ส่วนวิธีการจะใช้รูปแบบการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ช่วยสอนเสริมทางออนไลน์ หรือให้ใบงาน เป็นต้น




























- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” นำทีม OBEC ONE TEAM ประชุมเข้ม ดันโครงการลดภาระครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง กำหนดจุดเน้น นโยบายเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2567-68 - 28 พฤศจิกายน 2023
- สพฐ. ประชุมผู้บริหารระดับสูง ครั้งที่ 25/2566 เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง - 28 พฤศจิกายน 2023
- สพฐ. แจงกรณีครูผิดหวังไม่ได้ย้ายกลับบ้าน พร้อมเร่งช่วยเหลือไม่ให้ครูเดือดร้อน - 27 พฤศจิกายน 2023