ศธ. – สพฐ. เปิด “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันที่ 7 มีนาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” โดยมี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กพฐ. นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณครูและนักเรียน เข้าร่วมในพิธี ณ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้มีเป้าหมายคือการสร้างการรับรู้ความเข้าใจเรื่องสถานศึกษาปลอดภัย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 6 แล้ว พวกเรารู้สึกดีใจที่ได้มาเยือนภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่มีคุณค่า เป็นจังหวัดนำร่องที่ต้องการให้เกิดการสร้างการรับรู้ในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ในฐานะที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ทำงานด้านการสร้างคน สร้างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ สิ่งที่สำคัญนอกจากการพัฒนาด้านความรู้วิชาการแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องของจิตใจ เพราะน้องๆ เยาวชนเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีความเปราะบาง ดังจะเห็นได้ว่าในทุกวันนี้มีภัยหลากหลายรูปแบบที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเป็นการเร่งกระบวนการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้เราต้องจัดการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เด็กๆ หลายกลุ่มต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในการสื่อสารเรียนรู้ผ่านหน้าจอ ซึ่งผู้ปกครองเองก็มีภารกิจในการทำงานประกอบอาชีพ อาจจะไม่ทราบว่าเด็กๆ พบเจอเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่ดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง รวมถึงเด็กสื่อสารกับเพื่อนๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น อาจจะเกิดการรังแก (bully) หรือทำร้ายทางจิตใจจากเพื่อนๆ หรือกลุ่มคนแปลกหน้าทางอินเทอร์เน็ตได้

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการได้นำนโยบายจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมากมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความปลอดภัยว่าทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กและครูได้อย่างทันท่วงที ในวันนี้เราก็มี MOE Safety Center ซึ่งสามารถสื่อสารได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) แอปพลิเคชัน MOE Safety Center 2) เว็บไซต์ www.MOESafetyCenter.com 3) LINE @MOESafetyCenter และ 4) คอลเซ็นเตอร์ 0-2126-6565 เป็นช่องทางที่เด็กๆ คุณครู และผู้ปกครองเข้าถึงได้ สามารถแจ้งปัญหาอุปสรรคต่างๆ เข้ามาให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการรับรู้ ซึ่งหากรับทราบปัญหาได้เร็ว เราก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วตามไปด้วย โดยมีการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพราะกระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพังก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้าน ในโครงการนี้ก็ได้มีกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมด้วยเพื่อช่วยเหลือเยาวชนในทุกมิติ

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือทำอย่างไรให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราได้ผลักดันเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูและนักเรียนให้ได้มากที่สุด รวมถึงในขณะนี้ที่อยู่ในช่วงการสอบเข้าชั้น ม.1 และ ม.4 ในหลายโรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีมาตรการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการร่วมมือกันให้เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย (ระดับสีเขียว) สามารถเข้าสอบได้ เพื่อให้เด็กไม่เสียโอกาสและเข้าถึงการสอบให้ได้มากที่สุด ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้มาบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้ และขอเชิญชวนเด็กๆ ผู้ปกครอง และคุณครู ให้มาดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MOE Safety Center เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเหตุ ดิฉันหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กๆ และเยาวชนได้อย่างแท้จริงค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียน คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดความปลอดภัยในทุกมิติ และขับเคลื่อนนโยบายของ รมว.ศธ. ในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีมาตรการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกสบายใจ อุ่นใจ และไว้วางใจว่าสถานศึกษาจะสามารถดูแลให้นักเรียนมีความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สพฐ. ได้รับมอบหมายจาก รมว.ศธ. ให้เป็นตัวแทนขององค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ ในการสร้างระบบกลไกความปลอดภัยให้กับนักเรียนในทุกช่องทาง โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะเชื่อมโยงกับบุคลากรและศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE Safety Center ให้การรับเรื่องแจ้งเหตุเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องเชื่อมโยงจากนักเรียนและครูไปถึงผู้บริหารของกระทรวงฯ ให้สามารถดำเนินการป้องกันปราบปรามปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและครูในทุกมิติ อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ก็สามารถเห็นรายงานการแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้

นอกจากระบบแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน MOE Safety Center จะพร้อมใช้งานเพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาแล้ว สพฐ. ยังได้จัดการอบรมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความพร้อมในการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดยการทดสอบความเข้าใจการใช้งานแอปพลิเคชัน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านการทดสอบระดับคะแนน 70% ขึ้นไป จำนวน 157,815 คน เพื่อรองรับการดำเนินการสถานศึกษาปลอดภัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก 8 กระทรวง 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา จนขยายไปยังชุมชนในวงกว้างต่อไป ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย มีความสุข ทำให้โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองของนักเรียนทุกคนอย่างแท้จริง

“พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้จัดงานสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี บึงกาฬ เชียงราย ราชบุรี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สระบุรี และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งการจัดงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันนี้เป็นครั้งที่ 6 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในความสำคัญของความปลอดภัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาชาติ โดยกิจกรรมในวันนี้ มีทั้งภาพยนตร์สั้นซึ่งสะท้อนเรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในสถานศึกษา เป็นตัวอย่างของปัญหาที่สามารถใช้แอปพลิเคชัน MOE Safety Center ในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย รวมทั้งการจัดกิจกรรมสาธิตด้านความปลอดภัยของโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา และมีศิลปินดาราคือคุณแทค-ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม ผู้มีประสบการณ์ตรงด้านความไม่ปลอดภัยในอดีตได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับนักเรียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสถานศึกษาปลอดภัยในวันนี้ด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว