วันที่ 29 มีนาคม 2565 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นางกัลยาณี ศิวธรรมปัญญา รองศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายแพทย์วิเชียร ตันสุวรรณนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี และคณะทำงาน ร่วมลงพื้นที่โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียน onsite เพื่อออกอากาศ ซึ่งจะเปิดล่วงหน้าก่อนโรงเรียนปลายทาง 2 สัปดาห์ตามปกติ และให้ข้อแนะนำต่างๆ สำหรับการจัดการเรียนการสอนภายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี ดร.ราตรี ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงคณะครูและบุคลากร ให้การต้อนรับ นำเยี่ยมชมห้องการสอนออกอากาศ และห้องเรียนปกติ จากนั้นร่วมประชุมกับคณะกรรมการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผ่านระบบออนไลน์วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video conference)
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอแนวทางในการจัดการเรียนการสอนกับทางโรงเรียน โดยเน้นย้ำให้ทุกห้องเรียนมีอากาศถ่ายเท เว้นระยะห่างระหว่างกัน และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงประเมิน Thai Save Thai (TST) ทุกวัน ซึ่งทางโรงเรียนได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว อีกทั้งครูและนักเรียนทุกคนได้รับวัคซีนครบโดส 100% มีการทำความสะอาดห้องเรียนทุกครั้งหลังหมดคาบ พร้อมมีเจลแอลกอฮอล์วางไว้หน้าห้องทุกห้อง และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อภายในโรงเรียนก็สามารถรองรับได้ทุกสถานการณ์ นอกจากนั้น ทางกรมอนามัยจะจัดทำคลิปแนะนำแนวปฏิบัติและมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาเปิดประชาสัมพันธ์ก่อนการถ่ายทอดคั่นช่วงแต่ละรายการ เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามและเป็นการสร้างความมั่นใจในการเปิดเรียนแบบ On Site ให้กับเด็กและผู้ปกครองอย่างปลอดภัย
จากนั้น นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และคณะทำงาน ได้ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่องการเปิดเรียนก่อนโรงเรียนทั่วไป 2 สัปดาห์เป็นปกติทุกปี ซึ่งทางจังหวัดทราบดีอยู่แล้ว และได้ร่วมกันสำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อ On Site 100% ได้ทันและไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กต้นทาง รวมทั้งการเตรียมการเพื่อให้เด็กปลายทางกว่า 15,000 โรงได้เรียนเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขจังหวัด และที่ขาดไม่ได้คือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อช่วยให้สามารถเปิดเรียนอย่างปลอดภัย และสามารถเป็นต้นแบบของโรงเรียนทั่วประเทศในการขอเปิดเรียนแบบ On Site 100% ได้ พร้อมทั้งมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด และทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับชุมชนในการร่วมมือและรับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ในการเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัยต่อไป