วันที่ 5 เมษายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานและมอบนโยบายในการประชุมสัมมนาผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ของ สพฐ. และผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาและทีมพื้นที่ ทั่วประเทศ รวม 245 เขต เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference และถ่ายทอดสดทางช่อง OBEC Channel
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สิ่งที่ขอฝากผอ.เขตทุกท่าน เรื่องแรกคือ การเตรียมการเพื่อรองรับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2565 โดยเฉพาะเขตพื้นที่ฯมัธยมศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราได้คัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นอนุบาล ชั้นป.1 และชั้นม.1-4 ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงเวลานี้คือช่วงของการจัดหาที่เรียนให้กับเด็กๆ ที่พลาดการสอบเข้าโรงเรียนแข่งขันสูง จึงขอให้ทุกเขตพื้นที่ฯ ทำการสื่อสารและประกาศรายชื่อโรงเรียนที่จะรองรับนักเรียนที่พลาดโอกาส ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้นำเด็กนักเรียนไปเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมที่สุด ที่ยังสามารถรับได้ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าเรียน สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนจึงอยากให้ทุกเขตพื้นที่ฯให้บริการแก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า นักเรียนทุกคนจะมีที่เรียนอย่างแน่นอน จากนั้นเมื่อเราจัดหาที่เรียนให้แล้วผู้ปกครองไม่ประสงค์จะให้ลูกไปเรียน แต่อาจจะไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนอื่นๆ แล้วแต่ความประสงค์ของผู้ปกครอง ในส่วนหน้าที่ของเราถือว่าได้ให้บริการอย่างเต็มความสามารถแล้ว
เรื่องต่อมาคือ ในช่วงนี้ที่มีการประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูง ก็จะมีทั้งผู้สมหวังและผู้ผิดหวัง ขอให้ทุกโรงเรียนได้สื่อสารเรื่องหลักเกณฑ์กติกาในการสอบคัดเลือก เพื่อให้เห็นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยให้เน้นย้ำกับผู้บริหารโรงเรียนแข่งขันสูงได้ตระหนักและปฏิบัติตามแนวทางของ สพฐ. นอกจากนั้น ยังมีเรื่องโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงที่เราจะต้องรวบรวมประเด็นการสำรวจและข้อมูลย้อนกลับ เพื่อจะได้ข้อสรุปในการส่งต่อนักเรียน ทั้งการนำกลับมาเรียนที่โรงเรียนเดิม การส่งต่อให้ไปเรียนที่ใหม่ หรือการไปเรียนต่อในสถานศึกษาสังกัดอื่นๆ ควรได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ตามที่ กำหนดไว้ในปฏิทินรับนักเรียน จึงขอให้ทางผอ.เขตได้เน้นย้ำ แล้วเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งหากใครพบเจอรูปแบบหรือกรณีที่น่าสนใจ เป็นความประทับใจที่ได้ช่วยเด็กให้กลับมาเรียน ได้เห็นเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา ก็สามารถถ่ายคลิปวิดีโอสั้นๆ เกี่ยวกับกระบวนการในการนำเด็กกลับมาเรียน ที่ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความสุข โดยขออนุญาตทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อนจะเผยแพร่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนคนอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำใน 3 ส่วนคือ การสำรวจและติดตามน้องกลับมาเรียนนั้น ให้ติดตามในส่วนที่มีรายชื่อที่ทาง สพฐ. ส่งให้ โดยข้อมูลที่มาจาก DMC รวมถึงทำการสำรวจเด็กที่อยู่ในเขตบริการที่มีตัวแต่ไม่มีชื่อปรากฏและยังไม่มีที่เรียน ให้กลับมาเพิ่มเติมด้วย โดยสำรวจว่าเด็กที่มีตัวแต่ไม่มีชื่อ เดิมทีเขาเรียนอยู่ที่ไหนหรือไม่ได้เรียนอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เอาข้อมูลมายืนยันว่าตัวอยู่ที่หนึ่งแต่ชื่ออาจจะอยู่อีกที่หนึ่งก็ได้ เพื่อที่จะได้มาเชื่อมโยงข้อมูลกัน ซึ่งในการพาน้องกลับมาเรียนคราวนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายแค่เด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น แต่รวมถึงเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้น ม.6 เราจะพาเขากลับมาเรียนให้หมด โดยต้องให้เด็กได้เรียนอย่างมีคุณภาพและพึ่งพาตนเองได้ เพราะโครงการนี้ต้องการสื่อสารให้ได้ว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ที่จะเปลี่ยนความยากจนหรือความด้อยโอกาสของเด็กให้กลับเป็นคนที่มีโอกาสและมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านกลไกทางการศึกษา ซึ่งหลายเขตพื้นที่ฯก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณผอ.เขตทุกท่านที่ได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ และตระหนักถึงกลไกดังกล่าว ในขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลาเปิดเทอมใหม่ นอกจากเราจะพาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาเรียนแล้ว สิ่งที่เราต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกต่อไป นั่นหมายความว่าระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทั้งระบบจะเป็นกลไกที่เฝ้าระวังและป้องกันเด็กในทุกมิติ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนไปในตัวด้วย
สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ในห้วงตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเราได้เผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราได้ปรับบ้านเป็นโรงเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ช่วยเกื้อหนุนในลักษณะของการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Hybrid) มาโดยตลอด ในการเปิดภาคเรียนใหม่ที่จะถึงนี้ขอย้ำว่าเราจะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน แต่จะเปิดภาคเรียนปกติตามกำหนดการ ดังนั้นสิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ 1) ในการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดภาคเรียน ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กมาเรียนได้อย่างปลอดภัย 2) ต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจ ในเรื่องของการเตรียมอาคารสถานที่หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้มีการใช้งานมานาน โดยต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับการเรียนแบบ On Site และการเรียนแบบทางไกล ต้องคิดว่าเราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เป็นแบบ Hybrid ได้ ในส่วนนี้ขอให้ใช้ศึกษานิเทศก์และกลไกเจ้าหน้าที่ของเราในการประสานสร้างความเข้าใจกับโรงเรียน เพราะหากเราไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อน อาจจะมีปัญหาหลายอย่างตามมาได้ และ 3) แต่ละโรงเรียนจะมีความพร้อมที่แตกต่างกัน อาจจะมีโรงเรียนที่ประสบปัญหาด้านบุคลากร หรืออาคารสถานที่ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก โดยขณะนี้อาจจะมีโรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงเรียนที่มีข้าราชการครูเกษียณอายุแล้วไม่ได้ครูกลับคืนไป ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แต่ละเขตพื้นที่ฯทำการสำรวจโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป และมีอัตราครูเป็นไปตามเกณฑ์แบบพอดีหรือเกินเกณฑ์ แต่มีพนักงานและลูกจ้างที่เป็นครูผู้สอนอยู่ในโรงเรียนนั้น ต้องทำการเกลี่ยพนักงานราชการหรือลูกจ้างในโรงเรียนไปยังโรงเรียนที่ต่ำกว่า 120 แล้วไม่มีครู โดยเรียงลำดับจากโรงเรียนที่วิกฤตมากไปหาน้อย ในแต่ละเขตพื้นที่ฯต้องทำข้อมูลตรงนี้ให้ชัดเจน พร้อมกับทำแผนในการดำเนินการตามแนวทางโรงเรียนคุณภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะการเกษียณอายุต้องเกิดขึ้นเรื่อยๆ ความขาดแคลนก็จะมากขึ้นไปด้วย หากเราทำโรงเรียนคุณภาพให้เร็วและใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เร็วขึ้น ก็จะป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต้องทำการเกลี่ยหรือประกาศโรงเรียนที่ต่ำเกณฑ์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องประกาศว่าโรงเรียนนี้ต่ำเกณฑ์ แล้วประกาศโรงเรียนที่เกินเกณฑ์ ว่ามีโรงเรียนอะไรบ้าง หากครูคนใดที่อยู่ในโรงเรียนเกินเกณฑ์ประสงค์จะไปอยู่โรงเรียนต่ำเกณฑ์ ทาง กศจ. สามารถเกลี่ยอัตราได้ตลอดเวลา
เรื่องต่อมาที่อยากสื่อสารทำความเข้าใจคือ อยากให้ทางเขตพื้นที่ฯ จัดหมวดหมู่โรงเรียนที่ต้องกำกับหรือส่งเสริมสนับสนุน โดยจัดเรียงลำดับความสำคัญของสถานศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตัวเองเพื่อการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด แบ่งเป็น 1) โรงเรียนในโครงการพระราชดำริทุกประเภท ให้จำแนกว่าในเขตพื้นที่ของตัวเองมีโรงเรียนในโครงการพระราชดำริกี่ประเภท แต่ละประเภทมีกี่โรง ชื่ออะไรบ้าง 2) โรงเรียนที่มีหน่วยงานภาคเอกชนหรือองค์กร/มูลนิธิให้การสนับสนุน มีกี่โรง กี่องค์กร/มูลนิธิ ชื่ออะไรบ้าง 3) โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนคุณภาพ ที่อยู่ในแผนที่จะดำเนินงาน และ 4) โรงเรียนขยายโอกาสหรือกลุ่มอื่นทั่วไป โดยให้กำกับดูแลโรงเรียนเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
เรื่องสุดท้ายคือการกำหนดตัวชี้วัดในการขับเคลื่อนโรงเรียนในปีการศึกษาหน้า ให้ทุกโรงเรียนมีตัวชี้วัดเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียน หรือการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ใน 4 ข้อ คือ 1) เรื่องคุณภาพผู้เรียน ทุกโรงเรียนต้องกำหนดให้ได้ว่าในด้านองค์ความรู้ จะมีการยกระดับมากกว่าเดิมอย่างไร ทั้งในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เป็นต้น ต่อมาในด้านทักษะชีวิต ต้องการให้เด็กในโรงเรียนเกิดทักษะชีวิตอย่างไร ทั้งในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถของเด็กในแต่ละด้าน หรือ 1 ดนตรี 1 กีฬา ล้วนแต่เป็นทักษะที่จะต่อยอดให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดีขึ้น และด้านทักษะอาชีพ ที่เราต้องการให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติลงมือทำ เพื่อตอบโจทย์ด้านสมรรถนะของนักเรียน 2) เรื่องคุณภาพครูและผู้บริหาร ทุกโรงเรียนควรจะมีทิศทางในการยกระดับศักยภาพครูของโรงเรียนตัวเองให้ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรงเรียน ภายใต้ข้อจำกัดที่โรงเรียนมีอยู่ 3) เรื่องหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน อยากให้ลงรายละเอียดว่าโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาที่เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมี 5 สมรรถนะแล้วหรือยัง สามารถทำได้หรือไม่ และทำแล้วนำไปสู่การเรียนการสอนได้มากน้อยอย่างไร แต่ละโรงเรียนต้องสามารถนำเสนอทิศทางให้ได้ว่า มีหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอะไร เช่น ในชั้นอนุบาล เน้นทฤษฎีอะไรเป็นหลัก ชั้นประถม-มัธยมใช้ทฤษฎีอะไรมาเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบโจทย์ Active Learning ได้อย่างไร เป็นต้น และ 4) การมีส่วนร่วมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมีแผนการสร้างการมีส่วนร่วมและการปรับปรุงโครงสร้างอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโรงเรียน
“ผมอยากให้ผอ.เขตใช้ 4 ตัวชี้วัดนี้ในการออกเยี่ยม นิเทศ ติดตาม กำกับ การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการของโรงเรียนภายใต้ 4 องค์ประกอบ คือ 1. คุณภาพผู้เรียน 2. คุณภาพครูผู้บริหาร 3. คุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน และ 4. คุณภาพการมีส่วนร่วมและการปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดการศึกษาให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม หากโรงเรียนไหนประสบความสำเร็จได้รับการยกย่อง เราก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตนเชื่อว่าความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนปัจจัย ไม่ได้อยู่ที่บุคลากรมากหรือน้อย แต่อยู่ที่วิธีการในการแสวงหารูปแบบที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพและความสามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้ แต่เราต้องชี้เป้าหมายให้ชัด รวมถึงวิธีปฏิบัติให้แต่ละโรงเรียนได้คิดและแสวงหาแนวทางของตัวเอง ภายใต้กรอบที่ว่าเราจะมุ่งไปสู่ “สพฐ. คุณภาพ เอกภาพเชิงนโยบาย หลากหลายปฏิบัติ” โดยผ่านกลไกนวัตกรรมพื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน แล้วเราจะประสบความสำเร็จไปด้วยกันครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนวัดสุตธรรมาราม จังหวัดนครนายก - 21 กันยายน 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 2/2567 เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด - 20 กันยายน 2024
- สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 5/2567 - 19 กันยายน 2024