สพท.อุดรฯ ปักหมุดต้นทางทีมขับเคลื่อนมุ่งพัฒนาองค์กรสู่เป้าหมายสมรรถนะผู้เรียน

วันที่ 9 เมษายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ พร้อมมอบนโยบายการบริหารจัดการศึกษา “การจัดการเรียนรู้ Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” โดยมี นายศักดา จำปาหอม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี  กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน พร้อมด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มฯ ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ จาก สพป.อุดรธานี เขต 1-4 และ สพม.อุดรธานี รวม 30 คน ซึ่งเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่เข้าร่วมการประชุม ณ หอประชุมพุทธรักษา สพม.อุดรธานี จ.อุดรธานี

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เริ่มต้นด้วยกิจกรรมยืนตรงเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ กล่าวคำปฏิญาณเขตพื้นที่สุจริต และร่วมร้องเพลงจำขึ้นใจ ตามโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาล ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ซึ่งนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ก็ได้กล่าวชื่นชมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยการนำของนายวิทยา ประวะโข ผอ.สพม.อุดรธานี ที่ได้สร้างความเข้มแข็งขององค์กรในการสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมดังกล่าว ให้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพโดยเริ่มต้นจากตนเองและสร้างการมีส่วนร่วมในระดับสหวิทยาเขตหรือกลุ่มโรงเรียน โดยการบูรณาการการเป็นข้าราชการที่ดี ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผ่านกิจกรรมเขตพื้นที่สุจริต และโรงเรียนสุจริต เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งขององค์กร และพร้อมที่จะขับเคลื่อนภายใต้องค์กรเดียวกันสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ตามนโยบายของเลขาธิการ กพฐ.

จากนั้น นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้กล่าวในการบรรยายตอนหนึ่งว่า จุดเน้นของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดภาพความสำเร็จในมิติ 3 ด้าน ตามที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายไว้ ประกอบด้วย 1.ด้านองค์ความรู้  2.ด้านทักษะชีวิต 3.ด้านทักษะอาชีพ โดยน้อมนำพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ทั้ง 4 ด้าน คือ 1.การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3.มีงานทำ มีอาชีพ และ 4.การเป็นพลเมืองที่ดี มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเน้นย้ำการนำหลักการลงสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุงมาตรฐานและตัวชี้วัด พ.ศ. 2560) ที่เน้นการบูรณาการตัวชี้วัด การบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเติมเจตคติ ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า ผ่านกระบวนการ Active Learning เติมเต็มศักยภาพผู้เรียนด้วยสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น Open House ตลาดนัดวิชาการ การสร้างสถานการณ์จำลอง สถานการณ์จริง การนำเสนอผลงาน IS เป็นต้น ส่งผลทำให้เกิด Ultimate Outcome และเกิดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนในที่สุด

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า  จุดเน้นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ Key Success ในการขับเคลื่อนคุณภาพผู้เรียนสู่การปฏิบัติ คือ ศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่จะทำให้ผู้อำนวยการเป็นผู้นำทางวิชาการช่วยรวมครูบูรณาการทั้งในระดับกลุ่มสาระฯ และข้ามกลุ่มสาระฯ เพื่อลดภาระผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนมีเวลาในการสร้างสรรค์ผ่านการจัด Eco System ทางการเรียนรู้ที่จะสามารถต่อยอดองค์ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) ทัศนคติและคุณค่า (Attitude & Value) ให้กับผู้เรียน รวมทั้งการต่อยอดความคิดผู้เรียนจากนวัตกรรมที่มากกว่าการเป็นโครงงานบนหิ้งสู่การเป็นผู้ประกอบการบนห้าง สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในสถานการณ์ปัจจุบัน

“ทั้งนี้ การจะเติมเต็มคุณภาพการศึกษาเพื่อความยั่งยืน เกิดการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด และมีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการ ประกอบด้วย 4 หลักการเติมเต็ม นั่นคือ 1.อยากรู้ต้องได้รู้ ด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสร้างเครือข่ายเติมเต็มคุณภาพ ยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม 2.ความรู้มีอยู่ทุกที่ ด้วยการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้บูรณาการในห้องเรียน ผ่านเครือข่ายศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการหนุนเสริม 3.แบ่งปันของดี ร่วม PLC รวมครูเพื่อศิษย์ พี่เลี้ยงพาทำและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เพื่อคุณภาพผู้เรียน และ 4.ย่อโลกความรู้ผ่านเทคโนโลยี ด้วยการนำเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัยบนโลกของความรู้ให้พร้อมใช้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ และขอชื่นชมผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่มีความตั้งใจ และมีส่วนร่วมในการประชุม พร้อมมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว