พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ โอกาสที่คนศรีสะเกษจะมาเขียนประวัติศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนาคนศรีสะเกษร่วมกัน

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ โอกาสที่คนศรีสะเกษจะมาเขียนประวัติศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนาคนศรีสะเกษร่วมกัน.
ซึ่งผมอยากจะให้เห็นภาพรวมว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มจากภาคีเครือข่ายการศึกษาไทย คือ มูลนิธิสยามกัมมาจลและสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่าย รวมทั้ง TDRI กำลังคิดว่าจะพัฒนาการศึกษาแบบเต็มพื้นที่ในหนึ่งจังหวัด แล้วจะเลือกที่ไหนดี จากนั้นลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการลงพื้นที่โรงเรียนบ้านตะเคียนราม และได้ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่อื่นตามลำดับ ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความเห็นร่วมกันว่าจะให้ศรีสะเกษเป็นพื้นที่นำร่องร่วมกับจังหวัดระยองและจังหวัดสตูล เพราะบริบทของจังหวัดศรีสะเกษมีรายได้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยต่ำมาก แรงงานขั้นต่ำมีรายได้เพียง 308 บาท ซึ่งอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของประเทศ มีการทำเกษตรปลอดสารพิษ มีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก และมีสังคมอยู่อย่างเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่โดดเด่นของจังหวัดศรีสะเกษ คือ มี “นวัตกรรมการศึกษาที่เข้มแข็งหลายรูปแบบมาก” ซึ่งผมรู้สึกว่า เรามีหลายรูปแบบ แต่จะทำอย่างไรให้เรารู้จริง ซึ่งทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ได้ทำการสำรวจโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมด้วยการ Mapping นวัตกรรม จนได้ 8 นวัตกรรมหลักที่สำคัญ และหลังจากนั้นได้นำเสนอภาคีเครือข่ายว่า เรามีทุนนอกจาก 8 เรื่องนี้อีก คือ ความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ , อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ , โรงเรียนสาธิต มรภ.ศรีสะเกษ , สถาบันอาชีวะศึกษา , ภาคเอกชน , ชมรมธนาคาร และสภาหอการค้าอุตสหากรรมต่างๆ ซึ่งจากทุนที่เรามี ทางกระทรวงศึกษาจึงได้ประกาศให้ “ศรีสะเกษเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เราจึงได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการที่เน้นการสอนคนให้มีทักษะการคิด ทักษะชีวิต มีกระบวนการเรียนรู้ ที่แตกต่างจากเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นทุนของศรีสะเกษที่นับวันจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ซึ่งได้รับการหนุนเสริมให้พลังซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง
.
วันนี้เป็นวันหนึ่งที่ได้แสดงออกถึงพลังของคนศรีสะเกษ ภายใต้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ การบริหารงานที่เข้มแข็ง และมีกระบวนการคัดเลือกโรงเรียนเบื้องต้นแล้วจำนวน 42 โรงเรียน คาดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกในบางนวัตกรรม เพราะเราตั้งเป้าหมาย 50 โรงเรียน ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีโรงเรียนทั้งหมด 941 โรงเรียน เป้าหมายของปีหน้า คือรับโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 150 โรงเรียน โดยจะขยายโรงเรียนจากฐานทุนที่เรามี
.
เพราะฉะนั้นกราบเรียนว่า “โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะต้องมุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนาตนเอง ให้ถึงขั้นสูงสุดของนวัตกรรมที่ตนเองใช้ พร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบของโรงเรียนอื่นทั้งในและนอกจังหวัด ที่เราจะสร้างเครือข่าย ในปีหน้า”
.
ซึ่งผู้สนับสนุนหลักในด้านการพัฒนาของเรา คือ มูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งเข้ามาช่วยขับเคลื่อน สนับสนุนทางด้านวิชาการของโรงเรียน ด้วยการพัฒนาคุณภาพของแต่ละนวัตกรรม โดยมี Mentor เจ้าของนวัตกรรมเป็นผู้พัฒนาโรงเรียนเป็นหลัก
.
อยากบอกเล่าว่า “สิ่งที่เราคิด ที่เราเดินแบบนี้ ก็เหมือนกับการที่เราโยนก้อนหินลงน้ำ โดยหนึ่งนวัตกรรมก็โยนหิน 1 ก้อน แล้วมันก็จะค่อยๆกระเพื่อมออก อีกไม่นานนักก้อนหินที่โยนไปทั้ง 8 ก้อน 8 นวัตกรรมนี้ ก็จะขยายเต็มพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ” แต่อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาสนับสนุนเราก็มีงบประมาณจำกัด ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำกันต่อไป คือ เราจะต้องหาเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมให้ได้ เพื่อขยายนวัตกรรมสู่โรงเรียนอื่นให้มากขึ้น
.
และผมอยากจะกราบเรียนว่า “การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษครั้งนี้ เป็นโอกาสที่เราจะมาเขียนประวัติศาสตร์การศึกษาร่วมกัน เราคือผู้นำการศึกษาของประเทศไทย ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นำร่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่า เราจะต้องมาร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ ต้องมาสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนศรีสะเกษ เพื่อผลที่ได้ คือ คนศรีสะเกษจะมีคุณภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องร่วมกันทำ เพื่อพัฒนาคนศรีสะเกษให้เป็นคนรู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และสุขภาพกายใจที่เข้มแข็ง”
.
“ผมมักบอกกับหลายคนว่า ผมอยากให้ศรีสะเกษเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้า ที่ขายสินค้าแบรนด์เนม นั่นคือนวัตกรรมที่เรามีอยู่ ทำให้ดี ทำให้สุดยอด และทำให้เป็นเลิศ แล้วคนอื่นก็จะมาดูเรา ซึ่งเมืองศรีสะเกษจะต้องเป็นเมืองการศึกษาที่มีคุณภาพ ผมหวังว่า เราจะเป็นผู้นำทางการศึกษา และเมื่อวันนั้นมาถึง คุณภาพคนศรีสะเกษจะได้รับพัฒนาโดยนวัตกรรมที่มีอย่างหลากหลาย และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นทั่วประเทศไทยได้ ”
.
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณคณะทำงานจากทุกภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และศรัทธา ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษเพื่อคนศรีสะเกษ และต้องขอบคุณโรงเรียนที่เต็มที่และพร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่ออนาคตของลูกหลานศรีสะเกษ
.
โดย นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี
ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4
.
@การประชุมปฏิบัติการโรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) และคณะ ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุมศรีลำดวนแกรนด์ โรงแรมศรีลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
#พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
#SLP #สถาบันอาศรมศิลป์ #TDRI #SCBF