สพฐ. ลุย! เดินหน้าเติมเต็มศักยภาพนักเรียนตามความถนัด ผ่านระบบสำรวจวัดแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เน้นย้ำในเรื่องการเติมความรู้และทักษะให้กับเด็กในภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) พร้อมกับการพัฒนานักเรียนตามความถนัดเพื่อจะได้เรียนอย่างมีความสุขและตรงตามศักยภาพ จึงมอบหมาย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี นางสาวโชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ และคณะทำงานจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจ และแนวทางการนำระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการและครู เข้าประชุมดังกล่าว

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายหัวข้อ “การนำระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ลงสู่การปฏิบัติคัดกรองนักเรียน เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญา” และ “ความสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญา” โดยกล่าวว่า การพัฒนาผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องคำนึงถึงพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งตัวชี้วัดคุณภาพผู้เรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย สำหรับเป้าหมายในการสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการคัดกรอง วิเคราะห์ และวินิจฉัยผู้เรียนรายบุคคล ทำให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา ได้ทราบถึงแววความสามารถพิเศษของนักเรียนในแต่ละด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับนักเรียนรายบุคคล โดยประกอบด้วยแบบสำรวจแววความสามารถพิเศษขั้นต้น และแบบสำรวจแววความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ใน 8 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ ศิลปะ/มิติสัมพันธ์ การได้ยิน การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ และด้านสังคมและอารมณ์

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อมูลในการคัดกรอง นอกจากนำมาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียนแล้ว ยังถือเป็นการเติมเต็มและดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาเป็นรายบุคคลตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งนักเรียนทุกคนมีความแตกต่างหลากหลายกัน ต่างคนก็มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้นการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลจึงจะสามารถส่งเสริมและพัฒนานักเรียนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการของระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษฯ เราสามารถนำผลจากการสำรวจไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูและการสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาได้ ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคุณครูนำผลไปใช้วางแผนการจัดการเรียนรู้รายบุคคลและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โรงเรียนนำไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำไปใช้ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาระดับเขต และ สพฐ. นำไปใช้เป็นข้อมูลภาพรวมของประเทศในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา

“จะเห็นได้ว่าระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีเป้าหมายเพื่อคัดกรองผู้เรียนที่มีแววความสามารถพิเศษและใช้ผลการคัดกรองพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม โดยผลที่ได้นั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการตัดสินผลหรือการจัดลำดับผู้เรียนแต่อย่างใด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการร่วมกันในทุกพื้นที่ของประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ในโอกาสนี้ ต้องขอบคุณฝ่ายสนับสนุนทุกคนที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณครูที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทำให้สามารถนำข้อมูลในการคัดกรองไปใช้ประโยชน์พัฒนาต่อยอดลงสู่นักเรียนได้อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว มีบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการและครู ใน 245 เขตฯ ทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting จำนวน 135 ยูสเซอร์ และมีผู้ที่สนใจรับชมผ่านช่องทาง OBEC Channel เป็นจำนวนมากกว่า 85,000 คน ทั้งในเพจ Facebook รวม 75,000 คน และในช่องทาง Youtube อีกกว่า 10,000 คน