สพฐ. สุดเจ๋ง คว้ารางวัลระดับโลก สวนกระแสสถานการณ์ Covid-19 ได้รางวัลมากกว่าทุกปี

วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมชื่นชม ยินดีกับความสำเร็จของนักเรียนไทย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยคว้า 10 รางวัล จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) 2022 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับการประกวด ISEF 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเยาวชนไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันรวม 16 ทีม เป็นทีมจากโรงเรียนสังกัด สพฐ. 9 ทีม จากสังกัด สช. 2 ทีม จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 3 ทีม และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ 2 ทีม ทั้งหมดเป็นตัวแทนจากเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 17 ประจำปี 2564 และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 : YSC 2022 โดยในการประกวด ISEF 2022 ปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนกว่า 1,410 ผลงาน จากนักเรียน 1,750 คน จาก 130 ประเทศ และรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งการแข่งขันออกเป็น 21 ประเภทรางวัล

โดยตัวแทนเยาวชนไทยได้รับรางวัลในงานประกวดครั้งนี้ จำนวน 10 รางวัล ได้แก่

🏆 Grand Award อันดับ 1 เงินรางวัล $5,000 (2 รางวัล และรางวัลพิเศษ 1 รางวัล)

1) Grand Award, First Place Award in Computational Biology and Bioinformatics

ได้แก่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากการส่งโครงงานเรื่อง “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์”

2) Grand Awards First Place Award in Translational medical science

ได้แก่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากการส่งโครงงานเรื่อง “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI”

3) The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000 รางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท ได้แก่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากการส่งโครงงานเรื่อง “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI”

🏆Grand Award อันดับ 2 เงินรางวัล $2,000  (1 รางวัล)

1) Grand Award, Second Place Award  in Earth and Environmental Sciences

จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงการการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”

🏆Grand Award อันดับ 3 เงินรางวัล $1,000 (1 รางวัล)

1) Grand Award, Third Place Award  in Animal Science

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จากการส่งโครงงานเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง”

🏆Grand Award อันดับ 4 เงินรางวัล $500 (3 รางวัล)

1) Grand Award, Fourth Place Award in Biomedical and Health Sciences

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม ”

2) Grand Award, Forth Place Award in Biomedical Engineering

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา”

3) Grand Award, Forth Place Award  in Physics and Astronomy

โรงเรียนเบญจมราชูทิศ  จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน”

🏆Special Award (2 รางวัล)

1) Special Award First Life Science Award เงินรางวัล $1,500 จาก Sigma Xi, The Scientific

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงการการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”

2) Special Award จาก USAID Science for Development First Award – Global Health

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม ”

ทั้งนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 16 ทีม ที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีระดับโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 ทีม โดยขอชื่นชมนักเรียนที่ใช้ความสามารถในการทำโครงงานศึกษาวิจัยได้อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน ส่งผลให้ได้รับรางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และขอขอบคุณผู้อำนวยการ สบว. สำนักงานเขตพื้นที่ฯ รวมถึงโรงเรียน คณะครู และหน่วยงาน สวทช. ที่ได้ร่วมกันสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงให้โครงงานของนักเรียนก้าวสู่ความสำเร็จในเวทีระดับโลก ขณะเดียวกัน ขอแสดงความชื่นชมกับผลงานความสำเร็จของนักเรียนและครูที่ปรึกษา จากโรงเรียนในสังกัด สช. รวมถึงโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่ได้ทุ่มเทในการศึกษาวิจัย ทำโครงงานจนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลในเวทีระดับโลก แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพของเยาวชนไทยที่อยู่ในระดับเดียวกับโรงเรียนชั้นนำของนานาชาติ

“สพฐ. หวังว่าเยาวชนทุกคนจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากการประกวดในครั้งนี้ นำมาต่อยอดพัฒนาโครงงาน สิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวชื่นชมความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้บูรณาการร่วมกันในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทีมนักเรียนไทยในครั้งนี้ โดยนอกจากทีมผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนได้แสดงออกถึงศักยภาพของตนเองแล้ว ต้องขอขอบคุณเครือข่ายที่มีความพร้อมในทุกด้าน เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยพี่เลี้ยง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำและฝึกฝนเติมเต็มทักษะให้กับนักเรียนแต่ละคนจนสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ทางด้านคณะครูทุกท่านก็ได้ทุ่มเทสละเวลา มองเห็นศักยภาพ ส่งเสริมสนับสนุน ต่อยอด เติมเต็ม อีกทั้งยังดูแลนักเรียนอย่างดีทั้งในช่วงฝึกฝนประสบการณ์และช่วงเวลาแข่งขัน ช่วยให้นักเรียนไม่เกิดความเครียดและความกดดัน ได้แสดงออกถึงศักยภาพอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับ สวทช. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ารับการคัดเลือกในเวทีระดับประเทศ และมุ่งมั่นสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาโครงงานสู่เวทีนานาชาติ ตลอดจนดูแลเป็นพี่เลี้ยงในการส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในเวที ISEF 2022 ในครั้งนี้เป็นอย่างดี