รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนของ รร. สังกัด สพฐ. ณ จ.กำแพงเพชร

วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนของโรงเรียน สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์ โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม และโรงเรียนสลกบาตรวิทยา โดยมี นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายศักดิ์ชัย เพชรแกมทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูให้การต้อนรับ

โดยในช่วงเวลา 11.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน 50 ปี “ราษฏร์รังสรรค์” โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์ ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร และติดตามการขับเคลื่อนนโยบายจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีพุทธศักราช 2565 พร้อมรับชมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

ต่อมา เวลา 13.00 น. รมว.ศธ. ได้เดินทางไปยังโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย กำแพงเพชร

นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับศักยภาพและความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย และมีความเชื่อว่าแต่ละบุคคล มีความสามารถแต่ละด้านไม่เท่ากัน ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมาทำให้เด็กแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหรือความสามารถพิเศษ (Talented) และถ้าเด็กบางคนมีความสามารถพิเศษตั้งแต่ 2 ด้านขึ้นไป ซึ่งจะจัดอยู่ในเด็กปัญญาเลิศ (Gifted) หากเด็กได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมกับความสามารถของเขา ก็จะสามารถพัฒนาความสามารถที่ตนมีอยู่ให้เต็มศักยภาพได้เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละบุคคล เด็กแต่ละคนมีความสามารถและความถนัดและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ไม่มีใครสามารถเรียนรู้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะต้องเรียน ดังนั้น การจัดการศึกษาควรจะตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยการออกแบบกิจกรรมของแต่ละสาระการเรียนรู้ที่ตอบสนองความสามารถส่วนบุคคลที่เหมาะกับชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้เรียน และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องให้โอกาสแก่เยาวชนที่มีความสนใจและมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ฝึกฝนความรู้ความสามารถด้านนี้เป็นพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย จึงได้จัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำทุกเขตการศึกษา จำนวน 12 แห่ง

โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปีพุทธศักราช 2536 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งมั่นส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในด้านความเป็นอยู่และการศึกษาของเยาวชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นห่างไกล โดยให้โอกาสแก่เยาวชนที่มีความสนใจและมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ฝึกฝนความรู้ความสามารถด้านนี้เป็นพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย

รวมถึง คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2564 เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ ยกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการเพิ่มจำนวน 6 แห่ง ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ยังไม่มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้รับการพิจารณาคัดเลือกที่ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กำแพงเพชร ประจำเขตตรวจราชการที่ 18  ซึ่งมีเขตพื้นที่บริการ 4 จังหวัด (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-พิจิตร-อุทัยธานี)

“ต้องขอขอบคุณจังหวัดกำแพงเพชร โดยท่านเชาวลิตร แสงอุทัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร หน่วยงานทางการศึกษาทุกแห่งในพื้นที่ ตลอดจนส่วนราชการภาครัฐและเอกชนที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กำแพงเพชร ให้เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้นักเรียนในพื้นที่บริการมีโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษซึ่งจะเติบโตพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และผู้สร้างนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไป” นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าว

และใน เวลา 15.30 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย จุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2565 ณ โรงเรียนสลกบาตรวิทยา ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกเหนือจากการเรียนรู้ตามในระบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียนแล้ว การสร้างทักษะชีวิตให้แก่นักเรียน ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ตลอดถึงการช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม การมีคุณลักษณะที่ดี มีจิตอาสา เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่พัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งการมีความรับผิดชอบที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก หมายถึงพวกเขาเหล่านั้นจะสามารถรับผิดชอบประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี

ต้องขอขอบคุณหน่วยงานในพื้นที่ ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติงานให้เกิดการบูรณาการระหว่างกระทรวงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะนโยบาย 7 ข้อ 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย

1. ความปลอดภัยของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุขและได้รับการปกป้องคุ้มครอง ความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

2. หลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ                 

3. ฐานข้อมูล Big Data เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศ ที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

4. ขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา ตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ ตลอดจนมีการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน

5. พัฒนาทักษะทางอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ                        

6. การศึกษาตลอดชีวิต ประชาชนในแต่ละช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีมาตรฐาน เหมาะสมและเต็มตามศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา และพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

7. การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สามารถช่วยเหลือตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

โดยมีการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ มุ่งสู่การสร้างโอกาสและพัฒนานักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา อันได้แก่ การพาน้องกลับมาเรียน การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา หรือ SAVE สถานศึกษาปลอดภัย ภายใต้โครงการ MOE Safety Center โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ สำหรับน้อง ๆ ที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และการสร้างโรงเรียนคุณภาพชุมชน

“ขอขอบคุณโรงเรียนสลกบาตรวิทยา โดยการขับเคลื่อนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีความร่วมมือ และสร้างกิจกรรมดี ๆ ที่สามารถพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมในทุกด้านเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมากที่จะช่วยเสริมเติมเต็มเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า ขอให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนเกิดประโยชน์ต่อเด็กจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว