สพฐ. จับมือ สกมช. หาแนวทางร่วมกันพัฒนาเยาวชนให้มีภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะทำงาน ในฐานะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช. หรือ NCSA) นำโดย นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาครูและนักเรียนให้มีความตระหนักรู้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) โดย สกมช. มีเป้าหมายให้ความรู้แก่เยาวชนขั้นพื้นฐานทุกระดับชั้นให้ได้ 100% ในการรับมือกับภัยไซเบอร์ ทั้งในเรื่องภัย Call Center การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) และการโต้ตอบกับการใช้วาจาสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ (Hate Speech) เป็นต้น พร้อมทั้งหารือแนวทางร่วมกันในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในระยะยาวต่อไป โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. และคณะทำงาน เข้าร่วมประชุมความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ณ ห้องประชุมสีเขียว อาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ

โดยสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช. หรือ NCSA) มีภารกิจหลักในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เริ่มจากการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้เรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ไปศึกษาต่อในพื้นที่ Sandbox โดยนักเรียนสามารถเข้าฝึกงานกับบริษัทที่ สกมช. ทำความร่วมมือด้วย และสามารถประกอบอาชีพสาขานี้เมื่อจบการศึกษาได้ ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ได้มีการบรรจุ Cyber Security และ Cyber Bullying ไว้ในหลักสูตรการศึกษาของประเทศ และผลิตผู้ที่ประกอบอาชีพ Cyber Security ได้ปีละมากกว่า 1,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยผลิตได้เพียง 200 คนต่อปี 

สำหรับแผนระยะสั้น จะมีการส่งเสริมให้ครูและนักเรียนมีความตระหนักรู้และป้องกันภัยจาก Cyber Security จำนวน 2 ชั่วโมง ผ่านระบบทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) และถ่ายทอดสดผ่านระบบ OBEC Channel ทุกช่องทาง ในประเด็น 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) 2) การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และ 3) การรับมือกับภัยจาก Call Center มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ครูทุกคนที่สอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และนักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา โดยมีสื่อการเรียนรู้ที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย 

ส่วนแผนระยะยาว จะมีการดำเนินการใน 2 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาหลักสูตรเรื่อง Cyber Security มีลักษณะเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบออนไลน์ และการบูรณาการในรูปแบบกิจกรรม เช่น Coding,  STEAM, STEM, Digital Literacy โดย สพฐ. จะมีการวิเคราะห์เนื้อหาว่ามีความสอดคล้องกับหลักสูตรที่มีอยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งจะไม่เป็นการเพิ่มภาระกับครู แต่จะช่วยให้ครูมีสื่อการเรียนรู้ Cyber Security ที่ถูกต้องเหมาะสม และ 2) สนับสนุนการแข่งขัน Cyber Security ซึ่งมีเป้าหมายเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาประมาณ 4,000 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและประสบการณ์ ให้กลายเป็นเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเป็นการสนับสนุนการสร้างแรงงานออกสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไปมากขึ้น

สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ ทาง สพฐ. และ สกมช. จะมีการทำงานร่วมกัน เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้กับบุคลากรระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 นี้