วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ร่วมด้วยทีมงาน สพฐ. ONE TEAM ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสำนักต่างๆ ในสพฐ. ประกอบด้วย สํานักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) สํานักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และหน่วยศึกษานิเทศก์ (ศนฐ.) ร่วมกันบรรยายและจัดกิจกรรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นการปฏิบัติถึงห้องเรียนในแต่ละบทบาท โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งสพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และสพป.สุราษฎร์ธานี ทั้ง 3 เขต รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาและครูแกนนำ 66 โรงเรียนในสังกัด สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร จำนวน 320 คน ร่วมประชุม ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ทางเพจ สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งมีผู้สนใจจากทั่วประเทศเข้าชมมากกว่า 9 พันครั้ง
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning นั้น ครูผู้สอนต้องร่วมพูดคุยกันเพื่อให้เกิดคุณลักษณะที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้กับนักเรียน ทั้งการปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกที่สอดคล้องกันกับทักษะ คุณลักษณะของนักเรียนที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และตัวชี้วัดคุณภาพผู้เรียนตามนโยบายของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปรียบเสมือนเครื่องมือติดตัวที่จะเตรียมความพร้อมให้นักเรียนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับครู และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ใน 4 ด้าน มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ด้วยการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยบูรณาการตัวชี้วัด บูรณาการข้ามกลุ่มสาระ และเติมคุณค่า ผ่านกระบวนการ Active learning สู่สมรรถนะของผู้เรียน
สำหรับ Active Learning เป็นกระบวนการที่ทำให้นักเรียนได้คิด ลงมือปฏิบัติ และสื่อสารว่าเข้าใจถูกต้องตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ในคาบนั้น ฝากครูทำบันทึกหลังสอน เน้นการวิเคราะห์เด็ก เพื่อเติมเต็มให้นักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนในคาบนั้น พร้อมทำ PLC แก้ไขปัญหาการเรียนรู้กับนักเรียนร่วมกับครูท่านอื่น แล้วรายงานผลการดำเนินการอย่างง่ายด้วย Abstract 1 หน้า โดยหนุนเสริมความเข้มแข็งจากศึกษานิเทศก์เข้ามาช่วยเติมเต็ม พร้อมกันนั้นต้องสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน เช่น มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน หรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน เพิ่มเติมนำแหล่งเรียนรู้หรือคุณค่าในอดีตมาเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญามาใช้เติมคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สู่สมรรถนะเด็กไทยในเวทีโลก สร้างโอกาสให้ต่อยอดความรู้และทักษะ ก็จะทำให้ความเป็นไทยเกิดความเข้มแข็ง นำไปสู่สมรรถนะและคุณลักษณะได้อย่างยั่งยืน ดังคำที่ว่า ”รู้ค่าอดีต เข้าใจปัจจุบัน ปรับเพื่อเพิ่มคุณค่าในอนาคต”
“นอกจากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning อย่างสร้างสรรค์แล้ว การอดทนในการรอคอยคำตอบของนักเรียน จะส่งผลต่อการสร้างโอกาสให้ได้คิด ได้เข้าถึงการสื่อสารโดยเข้าไปในโลกของนักเรียน นำไปสู่การทำให้ครูเป็นไอดอล เข้าถึงได้ เป็นที่ชื่นชอบ และเป็นที่ไว้วางใจของเด็ก จนสามารถพูดคุยกับนักเรียนได้ทุกเรื่อง เหล่านี้จะเป็นประตูสำคัญที่ทำให้ดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย ทั้งครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ในการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทุกมิติ เปล่งประกายด้วยตัวเองจากท้องถิ่นไปสู่เวทีระดับโลก” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 1 นอกจากการบรรยายพิเศษโดยรองเลขาธิการ กพฐ. แล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักต่าง ๆ ในทีม ONE TEAM ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนผู้นำวิชาการครบทุกกระบวนการลงสู่ห้องเรียน ร่วมบรรยายให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สวก. กล่าวถึงประเด็น “จากหลักสูตรสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน” โดยการพัฒนาสมรรถนะของ OECD, ผู้เรียน Net Gen กับการคิด นำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนที่เหมาะสม, นางสาวชยพร กระต่ายทอง ผอ.กลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ สวก. ในประเด็น “จากหลักสูตรสู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา” โดยนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ สู่การพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน, นางสาวจรูญศรี แจบไธสง นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ในประเด็น “การกำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนรู้และการออกแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน” กล่าวถึงความสามารถของบุคคลในการทำงานที่ได้รับมอบหมายจนประสบความสำเร็จ จนเกิดเป็นสมรรถนะ โดยใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมเป็นเครื่องมือ การออกแบบการจัดการเรียนรู้ การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ยึดแนวคิดการจัดการเรียนเชิงรุก นำไปสู่สมรรถนะของนักเรียน
ทางด้าน นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการ ผอ.สทศ. และนางณัฐา เพชรธนู ผอ.ศูนย์ Pisa สพฐ. ในประเด็น “การวัดประเมินผลที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน” กล่าวถึงการวางระบบการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะตามหลักสูตรแกนกลางฯ เป็นการประเมินทั้งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และสรุปผลตามตัวชี้วัด เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อพัฒนาให้สมรรถนะสูงขึ้น เป็นการประเมินแบบบูรณาการ และเป็นเกณฑ์การประเมินที่สะท้อนสมรรถนะ โดยแจ้งเป้าหมายการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และสร้างความเข้าใจเกณฑ์การประเมินร่วมกัน ป้อนกลับเพื่อการพัฒนาและนำไปใช้เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า และตั้งคำถามเพื่อทบทวนกระบวนการเรียนรู้ และ อ.รวิภัทร เหล่าคุ้ม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้า ศนฐ.สพฐ., อ.สมเจตน์ พันธ์พรม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการนิเทศฯ ศนฐ.สพฐ. และ อ.หัทยา เข็มเพชร ผอ.กลุ่มนิเทศฯ สพม. สิงห์บุรี อ่างทอง ในประเด็น “การนิเทศ ติดตาม การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน” ด้วยการวางแผนการนิเทศ ติดตาม โดยใช้กระบวนการ Coaching & Mentoring เป็นหลัก ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตร
จากนั้น ในการประชุมเชิงปฏิบัติการวันที่ 2 เป็นกิจกรรมการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อออกแบบการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) โดยแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่ม 1 ผู้อำนวยการ ออกแบบแผนการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
– กลุ่ม 2 รองผู้อำนวยการ/หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ออกแบบและร่วมวางแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตร
– กลุ่ม 3 ครูผู้สอน ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
– กลุ่ม 4 ศึกษานิเทศก์ ออกแบบแผนการนิเทศติดตาม การจัดการเรียนรู้ Active Learning ทั้งระบบโรงเรียน
พร้อมทั้งระยะการติดตามเพื่อทำให้เห็นถึงคุณภาพของระดับชั้นเรียนภายใน 1 ภาคเรียน ด้วยการติดตามของ สพฐ. อีกด้วย
ภายหลังการทำกิจกรรม ทีมงาน ONE TEAM ได้แสดงความชื่นชม ผอ. และรอง ผอ.เขตพื้นที่ รวมถึงคณะผู้จัดงาน ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จัดการประชุมให้ความรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน อีกทั้งผู้ฟังยังให้ความสนใจ ตั้งใจ และให้ความร่วมมือในการมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี ทางด้านผู้ฟังก็ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก แนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรแกนกลางควบคู่สมรรถนะ การนำสมรรถนะไปใส่ในแผนและการเปลี่ยนแปลงการสอนเพื่อให้มีกิจกรรมที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน พร้อมมองเห็นภาพความชัดเจนในการขยายผลต่อไปยังคุณครู และผู้บริหารในสังกัด รวมทั้งการพัฒนางานในหน้าที่ของตนเอง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งได้เรียนรู้เทคนิคพัฒนาผู้เรียนแบบ Active Learning ในศตวรรษ 21 ด้วยกิจกรรมหลากหลายที่จะนำไปใช้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสนใจในเนื้อหาการเรียนมากขึ้น และนำไปพัฒนาให้ตรงกับความสามารถของนักเรียนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวสรุปว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยไม่เพียงเรียนรู้หลักการแนวทางที่เป็นทฤษฎีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเน้นการขับเคลื่อนตามนโยบายลงสู่การปฏิบัติด้วยการลงมือทำจริง ให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการศึกษาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ สพฐ. ยังได้เตรียมทีมเพื่อติดตามช่วยครู (Follow up) ทั้งทีมจากเขตพื้นที่ฯ และทีมจากส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันลงสู่สมรรถนะผู้เรียนตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญมาโดยตลอดนั่นเอง