ผู้ช่วยเลขาฯ กพฐ. “นิพนธ์” มอบเกียรติบัตร โครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศ โดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทางจากครูต่างชาติและครูไทย

วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานมอบเกียรติบัตร โครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศ โดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทาง จากครูชาวต่างชาติ (Native Speaker) และครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ สำหรับระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โรงเรียนและครูผู้สอนที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมี ผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน จำนวนทั้งสิ้น 140 คน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก 1 ชั้น 3 กระทรวงศึกษาธิการ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนขอแสดงความยินดีกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน คณะครูที่เข้าร่วมโครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศ โดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทาง จากครูชาวต่างชาติ (Native Speaker) และครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ สำหรับระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาคแคลนครู ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างแท้จริง ช่วยให้นักเรียนปลายทางที่ห่างไกลที่มีความสนใจและต้องการเรียนกับครูชาวต่างชาติ (Native Speaker) และครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ สามารถเรียนได้เสมือนนั่งเรียนอยู่ในห้องเดียวกันกับนักเรียนต้นทาง โดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทาง และทุกกิจกรรมผู้เรียนสามารถเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้

“การจัดงานในวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แสดงให้เห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติแก่คณะครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้เสียสละแรงกาย แรงใจ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเด็กและเยาวชนของเราได้รับการพัฒนาทักษะอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ โครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศ โดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทาง จากครูชาวต่างชาติ (Native Speaker) และครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ สำหรับระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการเรียนกับครูชาวต่างชาติ (Native Speaker) และครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เข้าถึงนักเรียนผ่านเทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่ สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ หรือความต้องการเฉพาะบุคคล เน้นให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ด้วยรูปแบบการสื่อสารสองทาง เสมือนการเรียนรู้ในห้องเรียนเดียวกัน ถึงแม้ว่านักเรียนจะอยู่ต่างสถานที่ก็ตาม

สำหรับการเรียนในรูปแบบดังกล่าว แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้เรียนรู้ใน 4 วิชา คือ 1. ภาษาอังกฤษ 2. ภาษาเกาหลี 3. ภาษาญี่ปุ่น และ 4. ภาษาจีน ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เรียนรู้ในอีก 4 วิชา คือ 1. ภาษาฝรั่งเศส 2. ภาษารัสเซีย 3. ภาษาเยอรมัน และ 4. ภาษาสเปน โดยจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 70 โรงเรียน มีนักเรียนปลายทางเข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 461 คน ซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจในโครงการดังกล่าว พบว่า ผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด