สพฐ. แถลงผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2562

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ณ เพลชเชอร์ บอลรูม โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพฯ นางสุกัญญา งามบรรจง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ. ได้แถลงผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 53 เรื่อง ประกอบด้วย รางวัลดีเด่น 12 เรื่อง และรางวัลชมเชย 41 เรื่อง เพื่อส่งเสริมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือ ให้ผลิตงานที่ประณีต มีคุณค่า และมีสารประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้อ่านรู้จักเลือกหาหนังสือที่มีคุณค่ามีสารประโยชน์ และมีความเหมาะสมมาอ่าน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น พร้อมด้วยกระตุ้นนิสัยรักการอ่านของคนไทย

นางสุกัญญา งามบรรจง เปิดเผยว่า โครงการประกวดหนังสือดีเด่น ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2515 โดยเป็นโครงการที่ได้มอบหมายให้สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ เป็นผู้ดำเนินการในช่วงระยะแรกเพื่อร่วมฉลองปีหนังสือสากลตามข้อเสนอแนะของยูเนสโก ข้อหนึ่งคือ “รัฐบาลและองค์กรอาชีพที่เกี่ยวข้องอาจร่วมกันจัดหารางวัลพิเศษ เช่น รางวัลทางวรรณกรรม รางวัลเรียงความของนักเรียน รางวัลการออกแสตมป์ รางวัลหนังสือราคาถูก เป็นต้น” ต่อมาปี พ.ศ. 2516 กระทรวงศึกษาธิการได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ โดยมีศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นฝ่ายเลขานุการ ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการประกวดหนังสือดีเด่นตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึง พ.ศ. 2546 กระทรวงศึกษาธิการ มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการใหม่ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เป็นผู้ดำเนินการจัดประกวดหนังสือดีเด่นเป็นประจำทุกปี ซึ่ง สพฐ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือ และการอ่านว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความคิด สติปัญญา ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกกลุ่มทุกวัย อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับรางวัลหนังสือดีเด่นเป็นที่ยอมรับในสังคมการอ่านด้วยดี อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ และสารประโยชน์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

สำหรับการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2562 เป็นการประกวดหนังสือที่ตีพิมพ์โฆษณาเป็นเล่มบริบูรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 สำหรับปีนี้ มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 397 เรื่อง แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกวีนิพนธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี หนังสือการ์ตูน/นิยายภาพ และหนังสือสวยงาม โดยผลการพิจารณาตัดสินรางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2562 มีหนังสือได้รับรางวัล 53 เรื่อง แบ่งเป็น รางวัลดีเด่น 12 เรื่อง และรางวัลชมเชย 41 เรื่อง ดังต่อไปนี้

รางวัลดีเด่น 12 เรื่อง ได้แก่ หนังสือสารคดี เรื่อง นวมินทรบรมนาถราชไมตรี โดย วงเดือน นาราสัจจ์ ชมพูนุท นาคีรักษ์ และสุวรรณา สัจจวีรวรรณ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) / หนังสือนวนิยาย เรื่อง ใต้ฝุ่น โดย โกลาบ จัน แพรวสำนักพิมพ์ / หนังสือกวีนิพนธ์ ร่ายฟ้าแรฝัน บทกลอนสั้น แต่ฝันไกล โดย นภาลัย สุวรรณธาดา สนพ.มหาวิทยาลัยรังสิต / หนังสือรวมเรื่องสั้น ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล / หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ปี เรื่อง ขอบคุณ โดย ตุ๊บปอง สนพ. Hello Kids / หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6 – 11 ปี แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทบันเทิงคดี เรื่อง สี่สหายกับต้นไม้ 100 ต้น โดย กฤษณะ กาญจนา และวชิราวรรณ ทับเสือ สนพ.แพรวเพื่อนเด็ก 2. ประเภทสารคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล / หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทบันเทิงคดี เรื่อง พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลู(สาว)นักร้อง โดย โชติ ศรีสุวรรณ บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด 2. ประเภทสารคดี เรื่อง 2310 กรุงธนบุรีผงาด “ตากสินมหาราช” ประวัติศาสตร์นอกตำรา โดย สุเจน กรรพฤทธิ์ บริษัท วิริยะธุรกิจ จำกัด (สนพ.สารคดี) 3. ประเภทบทร้อยกรอง เรื่อง โลกประจำตัว โดย รัฐ ปัญเจียง สนพ. มหาวิทยาลัยรังสิต / หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การ์ตูน และ หรือนิยายภาพทั่วไป เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระปิยมหาราช กษัตริย์ผู้ทรงนำสยามสู่สากล โดย สละ นาคบำรุง สำนักพิมพ์อมรินทร์คอมมิกส์ 2. การ์ตูน และ หรือนิยายภาพสำหรับเด็ก เรื่อง สิบภพสยบอสูร NARAI AVATAR โดย เฟน สตูดิโอ บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด / หนังสือสวยงาม แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภททั่วไป เรื่อง พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์ โดย อรวรรณ ทรัพย์พลอย และคณะ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร 2. ประเภทสำหรับเด็ก เรื่อง แก้มใครหอมจัง โดย ทิพย์วรรณ แสวงศรี และ Paboo บริษัท สำนักพิมพ์โลกหนังสือ จำกัด

รางวัลชมเชย 41 เรื่อง ได้แก่ หนังสือสารคดี มี 3 เรื่อง คือ 1. คนสำคัญในราชสำนัก : จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ โดย พินิจ หุตะจินดา สำนักพิมพ์แสงดาว 2. 140 ปี “การ์ตูน” เมืองไทย (ประวัติและตำนาน พ.ศ. 2417-2557) โดย ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร บริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญาจำกัด 3. ประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา โดย สุรพล ดำริห์กุล สำนักพิมพ์เมืองโบราณ / หนังสือนวนิยาย มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่ โดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร แพรวสำนักพิมพ์ 2. ในกับดักและกลางวงล้อม โดย ประชาคม ลุนาชัย บริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด 3. ฝากไว้ในแผ่นดิน In The Kingdom โดย ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด / หนังสือกวีนิพนธ์ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ดอกสร้อยร้อยบุปผา ร้อยคุณค่าสมุนไพรไทย โดย สัจภูมิ ละออ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 2. นิราศนรกานต์ และเรื่องอื่นๆ โดย จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี 3. วรรณกรรมน้ำตา โดย ปิยะพันธ์ จัมปาสุต / หนังสือรวมเรื่องสั้น มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ตรอกคนบ้า และเรื่องสั้นอื่นๆ โดย ธาร ยุทธชัยบดินทร์ สำนักพิมพ์ศิราภรณ์บุ๊คส์ 2. ผีตากผ้าอ้อม โดย สมใจ สมคิด สำนักพิมพ์นาคร 3. หางนกยูง Haangnokyoong โดย สุธีร์ พุ่มกุมาร สำนักพิมพ์สมุดไทย
.
หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1. แก้มใครหอมจัง โดย ทิพย์วรรณ แสวงศรี และ Paboo บริษัท สำนักพิมพ์โลกหนังสือ จำกัด 2. ความรักของแม่ค้างคาว โดย หิ่งห้อยในป่า ประภาคาร เอ็ดดูเคชั่น 3. พรวิเศษของแจ๋วแหวว โดย มนิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ / หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี แบ่งเป็นประเภท 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทบันเทิงคดี มี 3 เรื่อง คือ 1. พวกเราขอเล่าบ้าง อยู่วังสระปทุม 2 โดย สุมาลี บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด 2. เรื่องเล่าขานผ่านฮูปแต้ม โดย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย(บ้านเรียนน้ำริน) 3. โลกดวงนี้ก็เป็นของหนอนด้วย โดย เด็กหญิงติณณา แดนเขตต์ สำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ 2. ประเภทสารคดี มี 3 เรื่อง คือ 1. Pirates Academy คู่มือล่าสมบัติ ฉบับโจรสลัดนามกระฉ่อน โดย ณัฐชนัน โฆษิตาภรณ์ บริษัท สำนักพิมพ์ห้องเรียน จำกัด 2. ยโสธราพิมพา นางแก้วคู่บารมี โดย ศิริวัฒน์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ 3. แสงอาทิตย์ โดย ครูเชียร์ สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ / หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทบันเทิงคดี มี 3 เรื่อง คือ 1. แค่เราเข้าใจ โดย ครูภู สำนักพิมพ์สปริงบุ๊กส์ 2. ม้าน้ำสีทอง โดย เอกอรุณ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด 3. วันเกิดของเค้าโมง โดย จันทรังสิ์ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด 2. ประเภทสารคดี มี 3 เรื่อง คือ 1. เกมนอกสนาม Sport Light โดย วิศรุต สำนักพิมพ์แซลมอน 2. เหตุเกิดจากความเหงา Theory of Loneliness โดย ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์ บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด 3. AUS/STAY/LIA โดย แพร ฉัตรพร สำนักพิมพ์บัน 3. ประเภทบทร้อยกรอง มี 3 เรื่อง คือ 1. เกียรติยศแห่งดอกไม้ โดย นิวรรฒก์ จำปาทอง สำนักพิมพ์ภูผาวรรณกรรม 2. รวมบทร้อยกรอง แผ่นดินเดียว โดย แมน คล้ายสุวรรณ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต 3. สัมผัสใน โดย ธาร ธรรมโฆษณ์ สำนักพิมพ์ Artbook
.
หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภททั่วไป มี 3 เรื่อง คือ 1. พระเจ้า 500 ชาติ เล่ม 2 โดย โอม รัชเวทย์ และคณะ สำนักพิมพ์อมรินทร์คอมมิกส์ 2. เส้นทางสู่เหมืองแร่ โดย ศักดา วิมลจันทร์ สำนักพิมพ์พื้นฐาน 3. ครัวบ้านๆ My Little Kitchen โดย Pittmomo สำนักพิมพ์บัน 2. ประเภทสำหรับเด็ก มี เรื่อง คือ 1. ท่องแดนไดโนเสาร์ ตอน ท่องแดน…จูแรสสิก โดย จิตติรัตน์ ทัดเทียมรมย์ และอำพวรรณ ทิวไผ่งาม บริษัท สำนักพิมพ์ เวิลด์คิดส์ จำกัด 2. หิมพานต์ผจญภัย ตอน นารีผลที่หายไป โดย ดารายา บัวทอง บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด / หนังสือสวยงาม แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภททั่วไป มี 3 เรื่อง คือ 1. 84 พรรษา นางแก้วคู่พระบารมี โดย พลอากาศเอกไพโรจน์ รัตนพล อนงคณา มานิตพิสิฐกุล และอพฤฤดี รี้พล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 2. ในดินแดนแห่งความสุข โดย หรรษา ตั้งมั่นภูวดล 3. เหรียญรัชกาลที่ 9 โดย ศรีรัตน์ วัฒนล้ำเลิศ และคณะ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ 2. ประเภทสำหรับเด็ก มี 3 เรื่อง คือ 1. ช้างย้อยไม่มีเพื่อน โดย อุศนัน ขันสาคร ประภาศรี อยู่จุ้ย และทาริกา ไกรยะถา สำนักพิมพ์คิดบวก 2. เป็ดกิ๊บกั๊บนับ 1 2 3 โด Paboo, Taew บริษัท สำนักพิมพ์โลกหนังสือ จำกัด 3. หัวฉัน ตัวใคร โดย ณิชาวีร์ เพิ่มพูลปฏิพัทธ์ บริษัท สำนักพิมพ์ห้องเรียน จำกัด
.
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2562 จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

อัจฉรา ข่าว/วุฒิภัทร ภาพ