สพฐ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานน้อมนำ พระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงาน การน้อมนำพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งให้แนวคิดการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่เพิ่มภาระงานใหม่ให้กับสถานศึกษา ครู นักเรียน แต่เป็นการปรับการดำเนินงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น ลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก สร้างความรักและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ สพฐ. และคณะทำงาน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานน้อมนำพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียน มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี จึงได้จัดการประชุมจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงาน การน้อมนำพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติ ในระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565 นำโดย ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานคณะทำงานจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานการน้อมนำพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บรรลุตามวัตถุประสงค์การจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงาน เป็นการน้อมนำพระบรมราโชบาย 4 ด้าน คือ มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ-มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี ผ่านการปฏิบัติกิจกรรม วิถีคนดี คุณธรรมนำชีวิต หนึ่งนักเรียนหนึ่งอาชีพ และจิตอาสาด้วยหัวใจ โดยจะลงสู่การปฏิบัติในโรงเรียนนำร่อง 588 โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนพระราชดำริฯ 19 กลุ่มโรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกันถอดบทเรียนและค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลกับโรงเรียนทั่วไป 29,265 โรงเรียน ในปีการศึกษาต่อไป

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายบุญเลิศ  ค่อนสะอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นางอรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ นางลำใย สนั่นรัมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเครื่องมือวัดผล นางสาวพรเพ็ญ ทองสิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.สุวิทย์ บึงบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและสื่อสารการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายนพพร แสงอาทิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา คณะทำงานจากส่วนกลาง นักวิชาการศึกษา คณะทำงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ตามลำดับ