สพฐ. ชูแนะแนว เสริมเครือข่าย มุ่งความสนใจนักเรียน ต่อยอดอาชีพ

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางเกษศิรินทร์ สุวรรณสุนทร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เข้าร่วมงานกิจกรรมแนะแนวการศึกษาและอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาในคณะ/สาขาต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการศึกษาต่อ และเตรียมเข้าสู่อาชีพในอนาคต โดยเยี่ยมชมนิทรรศการ พร้อมทั้งให้กำลังใจคณะครู ผู้บริหาร และนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมภายในงาน ณ หอประชุมโรงเรียนสตรีวิทยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ

โดยภายในงาน ได้มีการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อการศึกษาต่อและอาชีพ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย คณะที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาต่อ และการเชิญวิทยากรในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงสังคมยอมรับว่าเป็นอาชีพที่มีความน่าเชื่อถือ อาทิ วิศวกร ทนายความ ตุลาการ อัยการ ตำรวจ นักแสดง ติวเตอร์ เป็นต้น มาร่วมบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาในคณะ/สาขาต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการและเข้ารับฟังการบรรยายจากวิทยากรเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากรองเลขาธิการ กพฐ. มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “การแนะแนวและการเติมเต็มคุณภาพผู้เรียน เพื่อฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss Recovery) ลดความเครียดและสุขภาพจิตผู้เรียน” ร่วมกับ แพทย์หญิงกรมิกา สรรพวิทยกุล อาจารย์แพทย์สาขากุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมบรรยายให้ความรู้กับตัวแทนนักเรียน ครู ผู้บริหาร และเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 30 คน พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านสถานี OBEC Channel ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาทั่วประเทศ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ารับชมโดยพร้อมกันอีกด้วย

ทั้งนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง การแนะแนวและการเติมเต็มคุณภาพผู้เรียน เพื่อฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss Recovery) ลดความเครียดและสุขภาพจิตผู้เรียน โดยกล่าวถึงการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเรียนออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเด็กนักเรียนในระดับปฐมวัยให้เน้นที่พัฒนาการสมวัย ทางด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม เด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาให้เน้นที่การอ่านออก เขียนได้ และระดับมัธยมศึกษาให้เน้นที่กิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning รวมถึงลักษณะของงานแนะแนวทั้ง 5 บริการ ได้แก่ บริการศึกษานักเรียนรายบุคคล บริการสนเทศให้ความรู้ การศึกษา การเลือกอาชีพ การปรับตัว บริการให้คำปรึกษา ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจของการแนะแนว บริการจัดวางตัวบุคคลให้การดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม และบริการติดตามผล ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักเรียนปกติ นักเรียนการศึกษาพิเศษ และนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ รวมถึงการลดปัญหาภาวะความเครียดของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง ผ่านระบบ School Health HERO ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ในด้านข้อมูลนักเรียน ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ

โดยนางเกศทิพย์ ได้กล่าวภายหลังการบรรยายว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้ใหญ่ให้ความสนใจในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น เกิดความใฝ่รู้ และเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ และแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพในอนาคต ผ่านทางนิทรรศการและการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ ได้แสดงออกผ่านการพูดคุยสอบถามอย่างอิสระ เป็นไปตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนสตรีวิทยา พร้อมเครือข่าย แสวงหาผู้เชียวชาญเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นอย่างดี

“สิ่งที่ต้องชื่นชมก็คือผู้บริหารและครู ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้ตามความฝัน ความสนใจ โดยแสวงหาโอกาส ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เลือกศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคตอย่างหลากหลาย ตามศักยภาพ ความชอบและความถนัดของตนเอง อีกทั้งการเติมเต็มคุณภาพนักเรียนด้วยเครือข่ายทั้งศิษย์เก่าและผู้ปกครอง ซึ่งมีความพร้อมในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาทุกๆ ด้านของโรงเรียนอย่างดียิ่ง สิ่งที่ขอฝากก็คือ เนื่องจากนักเรียนทุกคนมีความแตกต่างหลากหลาย และต่างก็มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้นการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลจึงจะสามารถส่งเสริมและพัฒนานักเรียนได้เต็มตามศักยภาพ และสิ่งที่สำคัญคือ สามารถกำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่าของประวัติอันยาวนานและเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเกียรติยศของโรงเรียน ปลูกฝังให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเห็นคุณค่าจากอดีต เข้าใจปัจจุบัน นำมาปลูกฝังบ่มเพาะคุณลักษณะนักเรียนได้เป็นอย่างดี” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว