สพฐ. ลุย ปรับเรียนรู้ หน้าที่พลเมือง คุณธรรม จริยธรรม สร้างเด็กดี ด้วย Active Learning ตามนโยบาย รมว.ศธ.

วันที่ 25 มิถุนายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 และเขต 4 โดยมีคณะทำงาน ONE TEAM ประกอบด้วย ผอ.สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมบรรยายและจัดกิจกรรม ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ นำโดยนายสุทธิดล พุทธรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ นายสุทธิชัย เดชสุวรรณนิธิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 และนางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 พร้อมด้วยบุคลากรในสังกัด ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มบริหารวิชาการ ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ รวมทั้งหมด 650 คน เข้าร่วมการประชุม โดยรับชมพร้อมกันในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Facebook Live เพจการขับเคลื่อน Active Learning จังหวัดเชียงใหม่

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รู้สึกปลื้มใจและรับรู้ได้ถึงความตั้งใจของผู้บริหารของเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา ในการร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning และเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณสมบัติเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมและกระบวนการเชิงรุก ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) ซึ่งตนเชื่อว่าในพื้นที่สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว แต่การที่ Full One Team มาร่วมขับเคลื่อนและพาทำในวันนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเป็นการตอกย้ำคุณภาพของบุคลากรในระดับพื้นที่ ซึ่งทุกโรงเรียนมีของดีที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันในโรงเรียน และที่ต้องเข้มแข็งมากที่สุดคือผู้บริหาร ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำในการพาคิด พาทำ นำสู่การปฏิบัติ วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหารได้มารับรู้และสร้างความเข้าใจเชิงปฏิบัติการ เพราะจะทำให้โรงเรียนก้าวเดินไปแบบ ชัดเจนในการปฏิบัติได้

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เราสามารถนำมาปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน (Quick Policy) ของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่ได้ขับเคลื่อนตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ที่ต้องการให้สถานศึกษาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนหน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ลักษณะสำคัญของการเป็นพลเมืองดี สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง การมีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง จนเกิดเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการนำหลักธรรมคำสอนตามแต่ละศาสนาไปปฏิบัติในการพัฒนาตนเอง เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เน้นย้ำการจัดการเรียนการสอนให้ลงถึงพฤติกรรมโดยดึงสิ่งที่รอบตัวมาต่อยอดให้เกิดความภาคภูมิใจและนำมาสร้างคุณลักษณะให้ผู้เรียน

ในการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดคุณลักษณะปลูกฝังลงในตัวนักเรียนนั้นโรงเรียนมีอิสระในการออกแบบและดำเนินการได้อย่างหลากหลาย เช่น การใช้ประวัติศาสตร์ของโรงเรียนที่มีความเก่าแก่ยาวนานบูรณาการเติมคุณค่าเพื่อสร้างคุณลักษณะของนักเรียนให้เกิดความภาคภูมิใจ รักในสถาบันของตนเองและสถาบันชาติ

“สิ่งที่เราต้องการเน้นย้ำ คือ การบูรณาการเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่จะสามารถนำพานักเรียนไปถึงสมรรถนะได้ ขอเพียงตั้งจุดประสงค์หรือเป้าหมายให้ชัด แล้วนำพาเคลื่อนความรู้ และการปฏิบัติด้วย Active Learning ก็จะสามารถตอบโจทย์ของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบายของ รมว.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ดังจะเห็นได้จากผลงานนักเรียนในระดับนานาชาติ ที่เป็นผลผลิตของการจัดการศึกษาของไทย ขอให้ทุกท่านได้ร่วมภาคภูมิใจและร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้กล่าวเสริมว่า การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนนั้น สามารถจัดทำได้ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาในโครงการนำร่องพื้นที่นวัตกรรม หรือสถานศึกษาที่ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยมีการจัดการเรียนรู้สู่การพัฒนาสมรรถนะในรายวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสถานศึกษาก็ได้ ซึ่งสถานศึกษาสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่นของตนเองมากที่สุด