สพฐ. จับมือ กกต. ลุยสร้างพลเมืองเด็กและเยาวชนวิถีใหม่ ครบ 4 ช่วงวัย

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรและเทคนิคกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองเด็กและเยาวชนวิถีใหม่ Civic Education ครั้งที่ 2/2565 ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting

โดยมีนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้งผู้บริหารของ สพฐ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการเข้าร่วมการประชุม อาทิ นายภูธร จันทะหงส์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นางสาวอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ และบุคลากรของสำนักวิชาและมาตรฐานการศึกษาร่วมเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  ประกอบด้วย นายเฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา นางผาณิต ทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มพัฒนากระบวนการเรียนรู้ นางสาวชยพร กระต่ายทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ และนางสาวจรูญศรี แจบไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งเป็นผู้บริหารจาก กกต. ประกอบด้วย นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง นางสาวปิ่นทอง อินทรศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเป็นพลเมือง นางสุดใจ สุอรุณ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเป็นพลเมือง รวมถึงคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ นางวณี ปิ่นประทีป อนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปเพื่อแก้ไขความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ นายชำนาญ วัฒนศิริ อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน นายพนม จองเฉลิมชัย อนุกรรมการด้านการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาหลักสูตรและเทคนิคกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองเด็กและเยาวชนวิถีใหม่ (Civic Education) โดยในที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำหลักสูตรอบรมวิทยากรและคู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองเด็กและเยาวชนวิถีใหม่ (Civic Education) มีการมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการยกร่างกรอบแนวคิดโครงสร้างหลักสูตรและเทคนิคกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองเด็กและเยาวชนวิถีใหม่ (Civic Education) สำหรับ 4 ช่วงวัย ประกอบด้วย ช่วงวัยอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงได้มีการวางแผนกำหนดการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำหลักสูตรอบรมวิทยากรและจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ และการสร้างช่องทางสื่อสาร line group เพื่อส่งข้อมูลความก้าวหน้าของการดำเนินงานต่าง ๆ ให้คณะกรรมการรับทราบและให้ข้อเสนอแนะ โดยจะมีการนัดหมายการประชุมครั้งต่อไปภายใน 2 สัปดาห์นี้