นายกฯ เปิดงาน Kick Off “สูงวัย ใจสมาร์ท” ดีใจ กศน.-ศธ. ทำดีขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อผู้สูงวัยใน 4 มิติ เปลี่ยนภาระ เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี Kick Off งาน “สูงวัย ใจสมาร์ท” ภายใต้โครงการการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิตและสมองของผู้สูงอายุ พร้อมชมนิทรรศการรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นต้น ให้การต้อนรับ และมีตัวแทนผู้สูงอายุจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศร่วมงาน ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ   

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพราะว่าถือเป็นกำลังหลักของชาติและเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือพัฒนาขับเคลื่อนอย่างรอบด้าน โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคนทั้ง 7 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามความร่วมมือกันในการการพัฒนากำลังคน ซึ่งประเทศไทยของเราเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมาสักพักนึงแล้ว โดยในปี 2565 นี้เรามีสัดส่วนของผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร และมากกว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ของเด็กในวัยเรียน ซึ่งแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดูแลและวางรากฐานที่ดีให้ผู้สูงอายุวัยเกษียณทุกท่าน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่า

“ผมรู้สึกดีใจที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงวัยเพื่อที่จะช่วยพัฒนาทั้งทักษะ ความรู้ ความพร้อมในการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ เพื่อให้ผู้สูงวัยอยู่อย่างมีความสุขและสร้างคุณค่าได้ และไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานในส่วนของกรุงเทพมหานคร ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อกลุ่มผู้สูงวัย ที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้วยังได้ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อผู้สูงวัยใน 4 มิติ ซึ่งครอบคลุมปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็น มีการต่อยอดถึงการอยู่ร่วมกันและการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สำหรับสังคมผู้สูงวัย และจากการได้เห็นผู้สูงอายุในแต่ละจังหวัดร่วมทำกิจกรรมที่เหมาะสมทั้งในการดูแลตนเอง การรวมกลุ่มเพื่อสร้างสังคม สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นพร้อมทำให้ประเทศไทยน่าอยู่แบบนี้แล้วนั้น ผมรู้สึกสบายใจแล้วอุ่นใจที่เราช่วยกันดูแลผู้สูงวัยที่ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยเกษียณ ซึ่งเราต้องดูแลและขอบคุณทุกท่านที่ยังสามารถเปลี่ยนภาระ ให้กลายมาเป็นพลังในการขับเคลื่อน และช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์กับประเทศอย่างยิ่ง ผมขอชื่นชมทาง กศน. และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยทำให้เกิดมิติแห่งความดีงาม เพื่อร่วมสร้างสังคมให้แข็งแกร่ง และทำให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรู้และใช้ประสบการณ์ทำให้เกิดประโยชน์ ทั้งกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้เป็นอย่างดี และ ขอให้การจัดงาน “สูงวัย ใจสมาร์ท” ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและภารกิจที่วางเอาไว้ทุกประการ นายกรัฐมนตรี กล่าว

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้จัดงานเปิดตัว “สูงวัย ใจสมาร์ท กศน. ปลุกพลังใจวัยเก๋า” พร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยเราได้ทำการเชื่อมสัญญาณ จาก 3 พื้นที่ 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ พิษณุโลก และพัทลุง เข้ามายังการจัดงานในกรุงเทพฯด้วย ซึ่งมีประชาชนกว่า 2 แสนคน ที่ได้ติดตามกิจกรรมการเปิดตัวโครงการฯไปพร้อม ๆ กัน

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกฯ ได้เป็นประธานการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงวัย ผ่านมาไม่ถึง 2 เดือน กระทรวงศึกษาธิการ โดย กศน. ก็ได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และสามารถนำมาสู่การจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ โดยการจัดงานในทุกพื้นที่ ซึ่งเราเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้สูงวัย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ เพื่อให้ได้สังคม เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดี และเพื่อให้ได้สภาพแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยีที่เกิดประโยชน์ เพื่อผู้สูงวัยได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้กลายมาเป็นคนมีคุณค่าในหมู่บ้าน ในชุมชน และสามารถใช้ประสบการณ์ชีวิตและมุมมองความคิด มาต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ สู่การขับเคลื่อนสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ ลดปัญหา ทั้งส่วนบุคคล และสร้างสังคมที่ดีมีคุณภาพด้วยผู้สูงวัย ได้เป็นอย่างดี

การจัดกิจกรรมแยกออกเป็นการพัฒนาใน 4 มิติดังนี้ มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ มุ่งเน้นการส่งเสริมทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เพื่อให้การใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ช่วงนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนภาระให้กลายมาเป็นพลัง ผ่านกิจกรรมการออกกำลังกาย การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ มิติที่ 2 ด้านสังคม เมื่อผู้สูงวัยได้พัฒนาและยกระดับตนเองทางด้านสุขภาพแล้ว ก็จะมีความพร้อมสู่การเข้าร่วมทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อก่อให้เกิดสังคมที่ดี ทั้งในกลุ่มผู้สูงวัยและสังคมในทุกกลุ่มช่วงวัยด้วย จากจิตอาสาผ่านกิจกรรมให้ความรู้เรื่องภูมิปัญญา รวมถึงความรู้เรื่องกฎหมาย มิติที่ 3 ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงวัยมีความพร้อม ทางด้านร่างกายจิตใจและมีการรวมกลุ่มเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว อีกทางหนึ่งก็สามารถยกระดับไปสู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้ ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มงานที่มีความถนัดและเหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงยังสามารถขยายผลไปสู่การรวมกลุ่มอาชีพหรือพัฒนาสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อเป้าหมายรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าและการยอมรับจากสังคมรอบข้าง มิติที่ 4 สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี มิตินี้มีความสำคัญและครอบคลุมสำหรับผู้สูงวัยทั้งเรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เบี้ยต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งเรื่องของอาคารสถานที่ บ้านที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในวัยเกษียณที่มีคุณภาพ และเพื่อให้เขากลับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์จึงมีส่วนสำคัญสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยด้วยเช่นเดียวกัน แต่นอกจากการใช้กับประโยชน์แล้วการเรียนรู้ที่จะป้องกันปัญหาที่อาจมากับโลกออนไลน์ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นนอกจากการใช้งานให้เป็นแล้วการจัดคอร์สอบรมเพื่อให้รู้เท่าทันการหลอกลวงถ้าในแง่ข้อมูลข่าวสารและการลงทุนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ทาง กศน. ให้ความสำคัญ เพื่อให้เท่าทันกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายที่เราต้องการยกระดับคนทุกช่วงวัย ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้สูงวัยที่เราโฟกัสกันในวันนี้ กศน. ยังมีทั้งกลุ่มเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสที่ออกไปทำงานซึ่งต้องการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ กลุ่มคนทั่วไปที่ต้องการยกระดับความรู้ และกลุ่มผู้สูงวัยที่เราให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นมิติที่ทาง กศน.ลงไปดูแลการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย และจากกิจกรรมที่เห็นภาพรวมของทุกจังหวัดในการขับเคลื่อนการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของกศนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการในทุกพื้นที่ ในกลุ่มวัยเกษียณ เราจะสามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดจากคนรอบข้างเปลี่ยนจากคำว่าภาระ ให้กลายมาเป็นพลังที่สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคมและสามารถใช้ชีวิตด้วยความสุขอย่างมีคุณภาพได้อย่างแน่นอน” นางสาวตรีนุช กล่าว