เลขาธิการ กพฐ. รับมอบเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะและแท็บเล็ต “โครงการเทคโนโลยีดิจิทัลปันสุข” ส่งต่อนักเรียนพัฒนาทักษะดิจิทัล

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีมอบเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะและแท็บเล็ต ตามโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลปันสุข ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ว่าที่ร้อยตรี สำรวย นกงาม ผอ.สพป. พระนครศรีอยุธยา เขต 2 และบุคลากร ให้การต้อนรับ

นายอัมพร ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาทางไกล การจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางอื่นๆ ได้แก่ จากแบบเรียนและใบความรู้ การเรียนด้วยตนเองผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การใช้ห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) การเรียนการสอนในรูปแบบโปรแกรม ZOOM โปรแกรม Google MEET การเรียนรู้ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook และแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องให้เกิด “การศึกษาขั้นพื้นฐานวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ” ซึ่งเน้นความปลอดภัยในสถานศึกษา ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าว อุปสรรคสำคัญคือ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส มาจากครอบครัวที่มีปัญหาการหย่าร้าง มีฐานะยากจน  ผู้ปกครองของนักเรียนประกอบอาชีพรับจ้างและรับจ้างทำงานต่างจังหวัด นักเรียนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายายเป็นส่วนใหญ่  ทำให้นักเรียนได้รับการดูแลจากผู้ปกครองไม่ทั่วถึงทั้งด้านการเรียนและพฤติกรรม นอกจากนั้นนักเรียนยังขาดแคลนสื่อเทคโนโลยี เครื่องมือในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนดิจิทัลและแหล่งความรู้  นักเรียนขาดทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยี ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านผลสัมฤทธิ์ในการเรียน และทักษะในศตวรรษที่ 21 อาทิ ผลการประเมินระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) โดยปัญหานี้ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งของการจัดการศึกษา ทำให้โรงเรียนไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาให้มีคุณภาพการศึกษาตามเป้าหมายได้ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 จึงได้จัดให้มีโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลปันสุขขึ้น โดยความร่วมมือจากผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ และผู้มีจิตศรัทธา ระดมทรัพยากรจัดหาแท็บเล็ตและจัดทำเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนเพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป

“ผมขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนทุกท่านที่ทำให้การดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลปันสุข สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผลประโยชน์ลงสู่ตัวนักเรียนโดยตรง ซึ่งโครงการนี้นับเป็นโครงการที่ดีมาก เชื่อว่าโครงการนี้จะมีการต่อยอดเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ดีต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ โครงการเทคโนโลยีดิจิทัลปันสุข จัดขึ้นโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 จากความร่วมมือของผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ และผู้มีจิตศรัทธา ระดมทรัพยากรจัดหาแท็บเล็ตและจัดทำเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนเพื่อใช้ในการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.  เพื่อระดมทรัพยากรในการจัดหาอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ของนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียน ฐานะยากจน อยู่ห่างไกลสัญญาณอินเทอร์เน็ต

2.  เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

3.  เพื่อให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน online เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์และได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน

4.  เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในการเข้าสู่สถานศึกษาในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

5.  เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสื่อการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21

6.  เพื่อให้นักเรียนมีความสุข ได้มีโอกาสทางการศึกษาจนเติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีคุณภาพและมีคุณค่าต่อสังคมไทยต่อไปในระยะยาว

โดยผลการดำเนินงานดังกล่าว จากการระดมทรัพยากรจากผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ และผู้มีจิตศรัทธา สามารถดำเนินการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนในสังกัด 158 โรงเรียน จำนวน 500 เครื่อง จำนวนเงิน 1,000,000 บาท และจัดทำเครื่องเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ จำนวน 18 เครื่อง จำนวนเงิน 450,000 บาท