สพฐ. ติวเข้ม ศน. ทั้งประเทศ เร่งนโยบาย รมว.ศธ. นำผลการประเมินไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนการนำผลการประเมินไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา” จัดโดยสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. โดยมีศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบการวัดและประเมินผลในแต่ละเขตพื้นที่ เข้าร่วมประชุมจำนวน 245 คน แบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 สำหรับศึกษานิเทศก์ สพป. ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2565 และรุ่นที่ 2 สำหรับศึกษานิเทศก์ สพม. ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ที่ให้ขับเคลื่อนการนำผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) การประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) (โดยความสมัครใจ) ไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้นำมาเป็น 10 นโยบายเร่งด่วน มาขับเคลื่อนแบบพื้นที่เป็นฐานผ่านกลไกสำคัญคือศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงครูในโรงเรียน นำผลการประเมินดังกล่าวมาพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนแบบรายบุคคล และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับสมรรถนะผู้เรียนผ่านการประเมินความฉลาดรู้ทางการเรียนระดับนานาชาติ เพื่อให้นักเรียนได้มีการพัฒนาตลอดช่วงวัยและเติมเต็มให้เกิดสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรฯ รวมถึงทักษะและคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายทั้งการเติมและพัฒนาได้ตรงจุด ตรงคน แบบไม่ตัดเสื้อตัวเดียว แต่ตัดเสื้อตามตัวคนในหลากหลายแบบ

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่าปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ คือศึกษานิเทศก์ประจำเขตพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเขตพื้นที่ใดที่มีการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ เกิดคุณภาพในระดับห้องเรียนและโรงเรียน เขตพื้นที่นั้นมักจะมีศึกษานิเทศก์ที่เข้มแข็งถึงแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยก็ตาม ทำให้ทราบว่าในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในระดับห้องเรียนที่สามารถสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งและต่อยอดไปในระดับนานาชาติ ด้วยการวิเคราะห์ผลการประเมิน และนำผลการประเมินไปใช้นั้น ศึกษานิเทศก์จำเป็นต้องมีความชัดเจนเพื่อนำพาครูสู่การปฏิบัติได้ และเป็นที่พึ่งให้โรงเรียนได้เป็นอย่างดี

“ในส่วนของการนำผลการประเมินในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RT NT หรือ O-NET ไปใช้นั้น ทำให้เราเห็นถึงแนวทางในการพัฒนา การเติมเต็มนักเรียนเป็นรายด้านและรายบุคคลได้ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ Active Learning ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในกิจกรรมที่ 2 ผ่านนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ จึงฝากให้ศึกษานิเทศก์ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนจากผลการประเมินดังกล่าว แล้วนำมาพิจารณาเติมเต็มพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพของนักเรียน และโรงเรียนในทุกเขตพื้นที่” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว นอกจากรองเลขาธิการ กพฐ. ที่ได้มาบรรยายพิเศษเรื่องการขับเคลื่อนการนำผลการประเมินไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ความรู้กับศึกษานิเทศก์ทั้ง 2 รุ่นอีกด้วย อาทิ นายชนาธิป ทุ้ยแป นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา นางรวงทอง ถาพันธุ์ ข้าราชการบำนาญ นายสุทธิ สุวรรณปาล ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.จันทบุรี เขต 1 นายธีรยุทธ ภูเขา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.อุทัยธานี เขต 2 และนางวัชราภรณ์ อุปนิสากร ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.อุบลราชธานี เขต 4 โดยคาดหวังว่า ศึกษานิเทศก์พานำ ร่วมพาโรงเรียนวิเคราะห์ผลการประเมิน และใช้ผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ได้อย่างแท้จริง