สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม “การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕” ผ่านระบบ Video Conference

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม "การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕" ผ่านระบบ Video Conference-cover

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม “การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕” ผ่านระบบ Video Conference

🕘 วันพุธที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.
ณ ห้องประชุมสานฝันศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร

นายวรรณสิทธิ์ คำเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร นำคณะผู้บริหาร บุคลากรในสังกัด และผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัด สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม “การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕” ผ่านระบบ Video Conference เพื่อรับฟังคำชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามนโยบาย โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งมอบนโยบาย ประเด็นเร่งด่วน และข้อราชการต่าง ๆ เพื่อให้งานบริหารในสำนักงานเขตพื้นที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานของ สพฐ. ต่อไป

โดย นายอัมพร พินะสา ได้มอบนโยบายและข้อราชการต่าง ๆ ดังนี้
📍 ๑. การรายงานผล ๑๒ นโยบายกระทรวงฯ ๗ Quick Win ของเขตพื้นที่ฯ
ให้รายงานผล สรุปเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และเสนอแนะโอกาสการพัฒนาต่อยอดในปีงบประมาณต่อไป และเสนอแนะสะท้อนกลับมายัง สพฐ. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการแผนดำเนินงาน ถือเป็นผลงานการประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน โดยนำส่งรายงานวันประชุม ผอ.เขตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๗ – ๙ ก.ย. ๒๕๖๕ ในรูปแบบ On-Site ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

📍 ๒. การก่อหนี้ผูกพันสำหรับการใช้จ่ายงบประมาณปลายปี
การใช้จ่ายงบประมาณปลายปี หากไม่ก่อหนี้ผูกพันใด ๆ จะไม่สามารถใช้เงินในเดือนกันยายนได้ ต้องก่อหนี้ผูกพันให้จบภายในเดือนสิงหาคมทุกรายการ

📍 ๓. การบริหารงานบุคคล
สรุปเตรียมการแก้ปัญหา ต่อยอด พัฒนางานด้านบุคคลในปีต่อไป มีหลายประเด็นดังต่อไปนี้
– พนักงานราชการและลูกจ้าง อัตราจ้าง ทุกตำแหน่งที่มีขณะนี้ และประเมินผ่าน สพฐ. อนุมัติจ้างต่อได้ทุกรายการ แต่ต้องทำบันทึกตามหลักการทางการเงิน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป และเนื่องจากลูกจ้างมี ๒ ส่วน คือ ลูกจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และ ลูกจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้เขตพื้นที่ดูแลไม่ให้มีผลกระทบการเบิกจ่าย
– ให้เขตพื้นที่ ได้ทำการสังเคราะห์ คำนวณอัตรากำลังทุกโรงเรียน ทราบได้ว่า เกินเกณฑ์ พอดีเกณฑ์ หรือต่ำเกณฑ์ คืนจากการเกษียณอายุราชการในปีนี้และได้รับจัดสรรกลับคืนไป ไปจัดวางในโรงเรียนที่ต่ำเกณฑ์ และไม่ขัดต่อเงื่อนไข คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จากนั้น หากมีโรงเรียนที่ยังต่ำเกณฑ์ ให้เกลี่ยพนักงานราชการและลูกจ้าง ไปจัดวางในโรงเรียนที่ขาด แต่ถ้าหากยังมีเหลืออยู่ในโรงเรียนเกินเกณฑ์อื่น ให้มุ่งไปยกระดับคุณภาพในโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือโรงเรียนดี ๔ มุมเมือง
– วางแผนภายในเดือนสิงหาคม เพื่อรองรับโรงเรียนที่มี ผอ.เกษียณ แต่มี นร. ต่ำกว่า ๑๒๐ และครูเกษียณ อาจไม่มีครู หรือผู้ปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ

📍 ๔. ปัญหาที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน
– โควิดยังมีการระบาดอยู่ โรคฝีดาษลิง อาจปิดห้อง ปิดชั้น ปิดโรงเรียน ขอให้เขตพื้นที่เข้มงวดมาตรการ ๖-๖-๗ ของ สธ. และลงพื้นหรือรับฟังปัญหาร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด
– ปัญหาโรคทางจิต โรคซึมเศร้า ในนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา จนถึงนักการภารโรง ชูโมเดล สพป.อุบลราชธานี เขต ๑ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด เครื่องมือตรวจวัดสุขภาพทางจิตของเด็กและครูทั้งระบบ และ สพฐ. ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เพื่อออกแบบเครื่องมือสนับสนุนเขตพื้นที่
– ปัญหารายวันขณะนี้ คือการถูกล่วงละเมิดทางเพศของนักเรียน ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด และปัญหาที่พบร้อยละ ๙๐ เคยเกิดขึ้นมาแล้วถึงทราบภายหลัง ย้ำ ครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา ใส่ใจตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และย้ำเขตพื้นที่ ผอ.โรงเรียน เรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ยังไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงปัญหา

📍 ๕. การย้ายครู ตามเกณฑ์ กคศ. และการบรรจุ ย้าย ผอ.โรงเรียน
– สำหรับการย้ายครู หลักเกณฑ์เดิม ให้ยื่นปีละ ๑ ครั้ง เดือนมกราคม และนับอายุราชการ หากเป็นครูต้องอยู่ ๒ ปี ครูผู้ช่วย ๔ ปี ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ ไม่ว่าเป็นครูหรือครูผู้ช่วย ถ้าอยู่ครบ ๒๔ เดือน สามารถยื่นคำร้องขอย้าย และยื่นได้ปีละ ๒ ครั้ง
– การกำหนดกรอบอัตรากำลัง รอง ผอ.โรงเรียน สำหรับโรงเรียนที่มี นร. ๑๒๐ คนขึ้นไป สามารถนำครูไปกำหนดเป็นรองได้ หากอัตรานั้นว่างจากการตาย ย้าย ลาออก แต่หากเป็นอัตราคืนเกษียณ คปร. ไม่อนุญาต แต่หากเป็นกรณีสอบคัดเลือกรองนั้น สามารถทำได้ โดยปรับอัตราของครูเป็นรอง ซึ่งอัตราครูก็จะต่ำกว่าเกณฑ์ และสามารถนำอัตราเกษียณไปวางตำแหน่งครูคนนั้นได้ ซึ่งเป็นเทคนิคการบริหารงานบุคคล
– การย้าย ผอ.โรงเรียน ขอให้เขตพื้นที่อ่านหลักเกณฑ์ กำหนดทิศทาง กรอบวิธีการ ให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์ที่ กคศ. กำหนด
– การประกาศสอบคัดเลือกศึกษานิเทศก์ในแต่ละเขตพื้นที่ มีผู้สมัครไม่ครบตามประกาศ ซึ่งเขตพื้นที่ต้องแสวงหา เชิญชวน ชี้ชวน คัดเลือกครูที่มีศักยภาพและเทียบเชิญมาเป็นศึกษานิเทศก์

📍 ๖. สพฐ. มีอัตรา พนักงานราชการ คืนเขตพื้นที่ เพื่อจัดสรรให้กับโรงเรียน
สพฐ. มีอัตราคืนไปให้ สนง. ที่มีอัตราต่ำเกณฑ์กว่าที่กำหนดในเกณฑ์กลาง โดยเฉพาะเขตมัธยมศึกษาที่เป็นเขตตั้งใหม่ ซึ่ง สพฐ. ได้วิเคราะห์แยกตามตำแหน่งไว้แล้ว และเขตพื้นที่ก็ดำเนินการสรรหาให้ได้ตามกรอบ ส่วนครู ต้องนำไปจัดสรรให้กับโรงเรียนที่ต่ำเกณฑ์มากไปน้อย

📍 ๗. การจัดกลุ่มการบริหารโรงเรียนในสังกัด
ขอให้เขตพื้นที่ได้จัดกลุ่มการบริหารโรงเรียนในสังกัด ในลักษณะ Area , Agenda , Function ให้ชัดเจน สำหรับส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแล อาทิ โรงเรียนในโครงการพระราชดำริฯ โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายอย่างทันท่วงที และบรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มโรงเรียน

📍 ๘. ความต้องการและการผลักดันของ สพฐ.
สพฐ. ได้ดำเนินการทำเรื่องเข้า ครม. เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหา ดังนี้
– การนำโรงเรียนคุณภาพ และโรงเรียนขนาดเล็ก เข้าสู่ ครม. ในระยะที่ ๒ โดยของบพาหนะเพื่อพานักเรียนมาเรียนในโครงการฯ
– เสนอขอปรับเงินอาหารกลางวันจาก ๒๑ บาท เป็น ๒๘ บาท อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของ ครม.

📍 ๙. สำรวจการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบทีวี
สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) ได้สำรวจโรงเรียน ที่จัดการเรียนการสอนผ่านระบบทีวี ตามที่ขอความร่วมมือจาก กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ และช่อง ๕ โดยจะสิ้นสุดการขอใช้สัญญาณในวันที่ ๑๔ ส.ค. ๒๕๖๕ นี้ และ สพฐ. ได้เสนอว่า อยากให้ช่องทางที่หลากหลายยังคงอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงขอให้เขตพื้นที่ติดตามกรอกรายละเอียดการใช้งานในแต่ละวันว่าได้เรียนผ่านช่องทางนี้กี่ชม. หรือใช้หรือไม่ มีความจำเป็นอย่างไร หากไม่คุ้มค่า ไม่ได้ใช้แล้ว จะนำเงินไปบริหารส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์กว่า แต่หากใช้อยู่และจำเป็น สพฐ. ต้องการข้อมูลในส่วนนี้เพื่อมาตัดสินใจ

จากนั้น คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ของ สพฐ. พบปะพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
👉 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง “รายงานผลการขับเคลื่อนของพื้นที่สู่คุณภาพผู้เรียน”
👉 นายสุรินทร์ สว่างอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สพฐ. เรื่อง “พาน้องกลับมาเรียน ระยะที่ ๒ และการก่อหนี้ผูกพันของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา”
👉 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. เรื่อง “การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนคุณภาพ ๔ ภูมิภาค”

📸 ดูภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ :
https://photos.app.goo.gl/13xjgTKiXmLqqxwr5

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม "การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕" ผ่านระบบ Video Conference-5