สพฐ. ชู รร.สุนทรวัฒนา หลากหลายกิจกรรม Active Learning โดดเด่น เล่นพร้อมเรียนรู้ต้นแบบได้

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 จากที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ได้มอบหมายงานนโยบายเร่งด่วน สพฐ. เรื่องการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้วยกระบวนการ Active Learning ซึ่งรับผิดชอบโดย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. จึงได้มีการตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสุนทรวัฒนา อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิพร้อมคณะทำงาน ซึ่งโดดเด่นในเรื่องของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย Active Learning เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งพบปะพูดคุยสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้บริหาร บุคลากร ครูและนักเรียนของโรงเรียนอีกด้วย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมโรงเรียนสุนทรวัฒนาในวันนี้ พบว่าทางโรงเรียนมีความหลากหลายในการจัดกิจกรรม เป็นที่รวมของทุกภาคส่วนที่มองว่าการจัดการเรียนรู้สำคัญที่กระบวนการจัดกิจกรรมในแต่ละห้องเรียน ซึ่งมีวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น Unplugged Coding, STEM, GPAS 5 STEP, IS, Active Learning, ห้องเรียนสีเขียว, ห้องเรียนสีขาว, เศรษฐกิจพอเพียง, โรงเรียน SMT, โครงงาน, BBL เป็นต้น ซึ่งทางผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูได้บูรณาการความหลากหลายลงสู่นักเรียนได้อย่างลงตัว ส่งผลให้นักเรียนเข้าใจบทเรียน เชื่อมโยงความรู้หรือประสบการณ์เดิมและความรู้ใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างความรู้เอง หรือสร้างประสบการณ์ใหม่จากการเรียนรู้ ได้รับการกระตุ้นและเกิดแรงจูงใจในการเรียน ได้รับการพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญจากการเรียนรู้ ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ รวมถึงได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม สามารถกำกับการเรียนรู้และมีการเรียนรู้แบบนำตนเองได้

สำหรับจุดเด่นของโรงเรียนสุนทรวัฒนา คือการมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่มีศักยภาพและความเข้มแข็งของคณะครูที่พร้อมร่วมกันในการจัดการเรียนรู้ ปรับให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต ให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นรายบุคคลพร้อมเติมเต็มด้านต่างๆ ตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิต จนครบทุกมิติ โดยสิ่งที่ต้องขอชื่นชม คือ โรงเรียนมีจุดเด่นในการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มเติมคุณภาพของนักเรียน ทุกด้าน พร้อมทั้งบ่มเพาะคุณลักษณะจนติดตัวนักเรียนผ่านการจัดการเรียนรู้ การผลักดันและขับเคลื่อน Active Learning ลงสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นผู้ใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง

 ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่โดดเด่นของโรงเรียน ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี ในระดับปฐมวัย ที่เน้นการเชื่อมโยงร่างกาย จิตใจ และสมอง โดยการเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวของตัวเด็กเอง ใน 4 หมวด ผ่านสื่ออุปกรณ์และการจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก และที่สำคัญคือการสร้างแรงจูงใจให้เด็กใฝ่รู้ สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมได้ สิ่งที่เด็กจะได้จากการเรียนในรูปแบบนี้ คือเด็กจะก้าวหน้าไปตามธรรมชาติของระนาบพัฒนาการ มีอิสรภาพในการเลือกและทำในสิ่งที่ตนเองสนใจที่จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเองได้ ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม มีการวางแผน แบ่งหน้าที่ทำงาน มีความตั้งใจและมีสมาธิ เด็กๆ จะได้รับการศึกษาเป็นรายบุคคล  เป็นผู้รักการเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน แก้ไขสิ่งผิด และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งการสั่งสมประสบการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เด็กเกิดพัฒนาการด้านสังคม ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมที่แท้จริงในห้องเรียน รู้บทบาทและหน้าที่การเป็นสมาชิกของกลุ่ม รู้จักช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทักษะทางสังคมของเด็กจะได้รับการพัฒนาตามวัย และมีวินัยในตนเอง 

รูปแบบที่ 2 คือ การจัดกิจกรรม “Unplugged Coding : ปลูกผักไร้ดิน ภูมิถิ่นวิถีพอเพียง” เป็นการนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Unplugged Coding มาบูรณาการกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง และปลูกฝังค่านิยมในการรู้จักการเลือกประกอบอาชีพ การเห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้จริงที่มีอยู่ภายในโรงเรียน โดยออกแบบเป็นสื่อการสอน  ประเภทเกมส์ ให้เนื้อหามีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของนักเรียน ในลักษณะการเรียนปนเล่น ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน

และรูปแบบที่ 3 คือ การจัดกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งโรงเรียนสุนทรวัฒนาได้เข้าร่วมโครงการในปี 2557 ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กปฐมวัย ได้ลงมือปฏิบัติและปลูกฝังให้เด็กทุกคนมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและเทคโนโลยี เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน กระตุ้นความสนใจใคร่รู้ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก ให้เด็กได้ฝึกทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง ส่งเสริมพัฒนาการความสามารถด้านภาษาสังคม และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ทำให้เด็กเกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่างเหมาะสมตามวัย 

“นอกจากนี้ โรงเรียนสุนทรวัฒนายังมีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นทักษะ จนเกิดเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของโรงเรียนใช้หลากหลายวิธีเพื่อให้เด็กทุกๆ คนได้เรียนรู้ทุกๆด้าน ด้วยความร่วมมือของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะผู้บริหาร คณะครูและผู้ปกครองนักเรียน ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุน นิเทศ และกำกับ ติดตาม ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 นับเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม และเป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตาม เพื่อนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านกิจกรรม เกิดการเรียนรู้อย่างคงทนได้ และเมื่อมีการสอบถามไปยังผู้บริหารของ สพป.ชัยภูมิ เขต 1-3 และ สพม. ชัยภูมิ พบว่ายังมีโรงเรียนในจังหวัดชัยภูมิอีกมากมายที่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ตามบริบทของตนเองได้อย่างน่าชื่นชมทั้งจังหวัดชัยภูมิ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ โรงเรียนสุนทรวัฒนา มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย ได้แก่ ห้องเรียนปกติ จำนวน 30 ห้อง  ห้องเรียนพิเศษภาษาต่างประเทศ (ห้องเรียน World Class) จำนวน 5 ห้อง  ห้องเรียนมอนเตสซอรี จำนวน 5 ห้อง  เป็นระดับปฐมวัย จำนวน 3 ห้อง  ระดับประถมศึกษา จำนวน 2 ห้อง โดยคละอายุ และ ห้องเรียนคู่ขนานร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดชัยภูมิ 1 ห้อง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สามารถจัดได้สอดคล้องกับความหลากหลายของนักเรียนที่มีความแตกต่างของช่วงวัยและระดับพหุปัญญา รองเลขาฯ กล่าว