วันที่ 11 สิงหาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดตัวระบบ HRMS ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะช่วยทำให้การดําเนินงานการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการจัดสรรอัตรากําลังครูและบุคลากรทางการศึกษา ของโรงเรียนภาครัฐในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับคุณครูทั่วประเทศ ผ่านทางระบบบริหารดูแลบุคคลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการขับเคลื่อนให้รัฐบาลเป็นรัฐบาล 4.0 โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ และผู้อำนวยการสำนักอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สพฐ. เข้าร่วม ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการให้เป็นกระทรวงศึกษาธิการยุคดิจิทัลมาโดยตลอด และในวันนี้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง นั่นคือระบบ HRMS ของ สพฐ. ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ ของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่ได้วางรากฐานการทำข้อมูล Big Data ของ สพฐ. มาตั้งแต่แรกเริ่ม และเป็นผลงานของข้าราชการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ที่ได้พัฒนาโปรแกรมขึ้นมาด้วยความรู้ความสามารถของข้าราชการในสังกัด เป็นระบบที่รวบรวมฐานข้อมูล ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แบบ Single Data หรือ ฐานข้อมูลเดียว ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการเก็บข้อมูลของหน่วยงานในสังกัด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการวางอัตรากําลังครูของแต่ละสถานศึกษา และ สามารถเห็นความเคลื่อนไหวได้แบบ Real Time เมื่อมีการโยกย้าย การเกษียณอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงอัตรากําลังครูในแต่ละโรงเรียน นอกจากนั้นยังสามารถระบุความต้องการครูแต่ละสาขาวิชาเอก ที่จะตรงกับความต้องการของโรงเรียนเพื่อช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาพัฒนาขึ้นได้อย่างชัดเจน รวมถึงยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลนี้ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในกระทรวงศึกษาธิการและภายนอกได้เป็นอย่างดี เช่น การวางแผนร่วมกันในการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ตรงตามความต้องการอัตรากําลังครูในแต่ละสาขาวิชาเอกได้อย่างแม่นยํา เป็นต้น
“การเปิดตัวระบบ HRMS ของ สพฐ. ในวันนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความตั้งใจในการ ปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล ตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพการศึกษาไปอีกขั้น ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนากําลังคนของประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาด้วยกระบวนการที่มีความซ้ำซ้อน จึงทำให้เกิดความล่าช้าขึ้นได้ เมื่อเราได้นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เราก็จะสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ในแต่ละปีเราต้องการครูจำนวนเท่าไหร่ มีจุดไหนที่มีอัตราว่างบ้าง เราก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การพัฒนาครูมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเราจะทราบข้อมูลล่วงหน้าว่ามีความต้องการครูมากน้อยแค่ไหน ก็จะส่งต่อไปยังหน่วยผลิตครูว่าต้องผลิตจำนวนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอกับความต้องการ เพื่อรองรับกับการมีงานทำ และมีข้อมูลว่าครูแต่ละคนได้รับการพัฒนาในด้านไหน อย่างไรบ้าง เพื่อได้พัฒนาในส่วนที่ยังขาดต่อไป โดยระบบนี้เชื่อมโยงกับระบบของ ก.ค.ศ. ก็จะทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในการขอวิทยฐานะของครูสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้น ในอนาคตเมื่อแต่ละองค์กรหลักใน ศธ. ได้พัฒนาระบบของตัวเองขึ้นมา ก็จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกัน จนกลายเป็น Big Data หลักของกระทรวงศึกษาธิการได้” รมว.ศธ. กล่าว
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024