วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายงานนโยบายเร่งด่วน สพฐ. ด้านการแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) และเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สพฐ. ติดอาวุธความรู้ให้เด็กไทยทุกคน อ่านออกเขียนได้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)” ซึ่งมีการจัดกิจกรรม ณ สวนวันครู บริเวณหน้าอาคาร สพฐ. 1 พร้อมทั้งประชุมทางไกลด้วยวิดีทัศน์ (Cisco Webex) รวมถึงการถ่ายทอดสดทาง OBEC Channel, YouTube และ Facebook Live ของสถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. โดยรองเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) จากนั้นร่วมรับฟังการพัฒนาการอ่านและการเขียนภาษาไทยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ อาทิ สพป.ขอนแก่น เขต 4 สพป.ลำพูน เขต 2 สพป.นราธิวาส เขต 2 สพป.กรุงเทพมหานคร และ สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 รวมทั้งชมนิทรรศการของสถานศึกษา สังกัด สพป.กรุงเทพมหานคร และ สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้สอน และผู้ที่สนใจ รวมจำนวนกว่า 5,700 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการรับฟังการพัฒนาการอ่านและการเขียนภาษาไทยของเขตพื้นที่ต่างๆ จะเห็นได้ว่า แต่ละเขตพื้นที่มีจุดเด่นหรือสิ่งที่น่าชื่นชมที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่นักเรียนระดับประถมศึกษามีการทำหนังสือเล่มเล็ก โดยแต่งเป็นนิทาน แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีทักษะการอ่านรู้เรื่อง จับประเด็น การสื่อสารและต่อยอดด้วยการเขียนตามจินตนาการ หรือการที่ครูผู้สอนมีการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยบูรณาการสอนข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ อีกทั้งครูผู้สอนใช้ Active Learning มาใช้ในการอ่านวรรณกรรม และมาใช้พัฒนาการอ่านต่อยอดกิจกรรม ให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุก น่าค้นคว้า ซึ่งโรงเรียนได้มีการพัฒนาการอ่านและการเขียน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาครูให้มีความเข้าใจที่จะนำไปพัฒนานักเรียน รวมถึงโรงเรียนมีกระบวนการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาการอ่านและการเขียนที่เป็นระบบ โดยมีการคัดกรองความสามารถในการอ่านและการเขียน และนำผลไปใช้ในการวางแผนพัฒนานักเรียน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้ช่วยเหลือนักเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องขอชื่นชมผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ที่ทำให้เห็นภาพความสำเร็จของการบูรณาการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการอ่านและการเขียนของผู้เรียน ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นการดึงศักยภาพให้นักเรียนเป็นรายบุคคลอีกด้วย
“นอกจากนี้สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง คือ การรวมครูเพื่อบูรณาการข้ามวิชา ลดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ส่งผลทำให้การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาพื้นฐานมีเวลาเหลือ และนักเรียนได้เรียนรู้หน่วยบูรณาการที่มีความหมายครบตัวชี้วัด และไปสู่ Apply ได้ส่วนในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาเพิ่มเติม ควรเป็นการต่อยอดสู่ทักษะที่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน นำไปสู่อาชีพในอนาคตให้นักเรียนเตรียมความพร้อม เมื่อนักเรียนได้รับการพัฒนาในเรื่องการอ่านจับใจความสำคัญ และการสื่อสารภาษาไทยทั้งการเขียนและเล่าเรื่อง แล้วได้รับการต่อยอดจนเกิดการคิดวิเคราะห์ สร้างจินตนาการที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง จะเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนสูงสุด ถือเป็นภารกิจสำคัญของ สพฐ. ที่จะต้องเร่งส่งเสริมสนับสนุนเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และการดำรงชีวิตของนักเรียนต่อไป ซึ่งเป็นข้อเน้นย้ำของท่านเลขาธิการ กพฐ. นายอัมพร พินะสา และตามนโนบายของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และในวันนี้เรามีเครื่องมือเติมเต็มให้นักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งพร้อมให้เขตพื้นที่นำไปใช้เพื่อเติมและดึงศักยภาพนักเรียนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้านนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า สพฐ. ได้จัดทำโครงการ “สพฐ. ติดอาวุธความรู้ให้เด็กไทยทุกคนอ่านออกเขียนได้” เพื่อแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Loss) โดยได้จัดทำแบบวินิจฉัยการอ่านและการเขียนพร้อมทั้งชุดแบบฝึกซ่อมเสริมการอ่านและการเขียนภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 57 เรื่อง รวม 9 เล่ม โดยขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตที่นักเรียนมีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นำไปใช้ในการซ่อมเสริมนักเรียน และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อลดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (จำนวน 11 เล่ม) โดยความร่วมมือของผู้ทรงคุณวุฒิในระดับอุดมศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน และนักวิชาการศึกษา มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้พัฒนาผู้เรียน ซึ่งต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องเข้าใจ และเข้าถึงสื่อดังกล่าว เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ตรงกับสิ่งที่ผู้เรียนต้องได้รับการเติมเต็ม
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบาย ศธ. ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และโรงเรียนภัทรบพิตร จ.บุรีรัมย์ - 4 ตุลาคม 2024
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 39/2567 - 1 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ร่วมเยี่ยมชมห้องเรียนนำร่อง Chromebook เตรียมความพร้อมสู่อนาคตยุค AI ณ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ - 1 ตุลาคม 2024