ครูภาษาไทย ยะลา2 เอาจริง ลงมือผลิตและพัฒนาสื่อเสริมทักษะภาษาไทย หวังส่งเสริมนักเรียนอ่านออกเขียนได้ และลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 (เวลา 08.30 น.) ดร.อาดุลย์ พรมแสง ผู้อำนวยการ สพป.ยะลา เขต 2 มอบหมายให้ นายตอฮีรน หะยีเลาะแม รองผู้อำนวยการ สพป.ยะลา เขต 2 เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสมรรถนะด้านการสื่อสารผ่านสื่อเสริมทักษะภาษาไทย เพื่อลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) โครงการพัฒนาการอ่านการเขียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 โดยมีครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนในสังกัด จำนวน 86 คน ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนโรงงานยาสูบ 2 จำนวน 2 คน ครูศูนย์การเรียนตำตรวจตระเวนชายแดนบ้านภักดี จำนวน 2 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 90 คน  และในภาคบ่าย ดร.อาดุลย์ พรมแสง ผู้อำนวยการ สพป.ยะลา เขต 2 ได้เดินทางมาพบปะ พร้อมให้กำลังใจผู้เข้ารับการอบรม ณ ห้องกังสดาล โรงแรมยะลาแกรนด์พาเลส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสมรรถนะด้านการสื่อสารผ่านสื่อเสริมทักษะภาษาไทย เพื่อลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาและให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย โดยกำหนดนโยบาย “เดินหน้าและพัฒนาการอ่านออกเขียนได้” เพื่อลดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของนักเรียน และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเร่งรัดการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน  และยังสอดคล้องกับนโยบายของผู้อำนวยการ สพป.ยะลา เขต 2  ข้อที่ 1 การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ และข้อที่ 2 พิชิตอ่านเขียน เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ที่สนองต่อเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใกล้เคียงระดับชาติ รวมทั้งเพื่อลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ทั้งนี้ สพป.ยะลา เขต 2 ได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสมรรถนะด้านการสื่อสารผ่านสื่อเสริมทักษะภาษาไทย เพื่อลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ขึ้น ระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2565 โดยให้ครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ลงมือปฏิบัติจริงในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ รวมถึงเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อ่านออกเขียนได้ และลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของนักเรียน ซึ่งมีนายปรีดา ปัญญาจันทร์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญสื่อภาษาไทย นักเขียนหนังสือเด็กเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้