นครราชสีมา 8 เขต ผล Active Learning เป็นรูปธรรม สพฐ ปลื้มเป็นจังหวัดต้นแบบ

วันที่ 21 สิงหาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นำ One Team 5 สำนัก สพฐ. เสริมทัพ Active Learning ทั้งจังหวัดนครราชสีมา และบรรยายพิเศษ “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” พร้อมทั้งชมนิทรรศการ Active Learning 10 โรงเรียนจากทุกสังกัด สพท. ของจังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning ที่มีผลงานเชิงประจักษ์จนกลายเป็นจังหวัดต้นแบบ โดยมีผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน และครูแกนนำ ทั้ง 8 เขตพื้นที่ ของจังหวัดนครราชสีมา จำนวนกว่า 350 คน เข้าประชุม ณ โรงแรมโกลเด้นแลนด์ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และถ่ายทอดสดผ่าน YouTube สพป.นครราชสีมา เขต 1 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน สพฐ. 10 ข้อ ของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอัมพร พินะสา ซึ่งได้นำเอานโยบายสำคัญของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากที่ได้ชมตัวอย่างผลงานการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ Active Learning ของโรงเรียนแกนนำ ทั้ง 8 เขตพื้นที่ พบว่า เขตพื้นที่ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู มีความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning อย่างเป็นรูปธรรม และมีความหลากหลายในการพัฒนา ที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา บนฐานของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาผู้เรียน ทั้ง 3 ด้าน  คือ มาตรฐาน/ตัวชี้วัด  สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า เขตพื้นที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตรฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายคือการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ที่สำคัญยังได้เน้นย้ำในการเติมเต็มคุณภาพนักเรียนที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ จากที่เราไม่ได้เปิดเรียนกว่า 2 ปี ในรูปแบบ On-site ทำให้นักเรียนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ในด้านมิติทางสังคม และอีกหลายๆ ด้าน เพิ่มเติมการเฝ้าระวัง และการสังเกตนักเรียนอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่อยากเน้นย้ำให้ทั้งผู้บริหารและครู ที่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดได้มีวิธีการหรือตัวช่วยในการดูแลนักเรียน ทั้งในระบบ School Health Hero หรือสายด่วนกรมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของด้านความปลอดภัยของ MoE Safety Center เป็นต้น เพื่อการเติมเต็มอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพผู้เรียนต่อไป

“ทั้ง 8 เขตพื้นที่ ของจังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงให้เห็นว่า Active Learning เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตรฯ ที่ไปถึงสมรรถนะผู้เรียนได้ และเห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น ของผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ ที่มีการขับเคลื่อนตามแนวทางและบริบทของตนเองทั้งในด้านการบูรณาการ และใช้คุณค่าที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นสถานการณ์ในการสร้างสมรรถนะผู้เรียน จนเกิดเป็นผลงานระดับประเทศและนานาชาติ สร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียนและเขตพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้ว่าการศึกษาไทยไม่ได้ล้มเหลว แต่ในทางกลับกันมีความเข้มแข็งมากตั้งแต่ระดับพื้นที่ และในภาพรวมของทั้งประเทศ เพียงแค่เราต้องช่วยกันนำเสนอสิ่งดีๆ เหล่านี้ออกมาสู่สายตาประชาชนให้มากขึ้น รวมทั้งการสร้างผลผลิตที่ทำให้ทุกคนรู้ว่า ‘เด็กไทย ก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว