สพฐ. ผนึก กปร. ทำหน่วยบูรณาการ ผสานตัวชี้วัด บ่มเพาะคุณลักษณะ มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกมิติ

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมประชุมหารือ การขยายผลองค์ความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) โดยมี นายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. นางศศิพร  ปาณิกบุตร ผอ.กองกิจกรรมพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงาน กปร. นางอรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สพฐ. และนายสมเจตน์ พันธ์พรม ฝ่ายวิชาการ รองเลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงาน กปร. เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมหารือครั้งนี้เป็นการเตรียมการสร้างความร่วมมือในการสร้างหน่วยบูรณาการจากโครงการขยายผลองค์ความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน 4 รูปแบบ คือ 1)โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลำดับแรกคือศูนย์ศึกษาฯ มี 6 แห่ง 2)รถโมบายองค์ความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3)หนังสือเอกสารเผยแพร่ ของ กปร. และ 4) นิทรรศการ

พร้อมกันนี้ นางเกศทิพย์ ได้นำเสนอถึงแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning บูรณาการตัวชี้วัดจากแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียน สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนและบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่ทาง สพฐ. ได้ดำเนินการและมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แล้ว ได้แก่ ค่ายรัตนพล กองพลพัฒนาที่ 4 จังหวัดสงขลา อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ (NARIT) และศูนย์ฝึกฯที่อยู่ในขั้นเตรียมการประชาสัมพันธ์ โดยการอาศัยความร่วมมือของศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ ในการถอดตัวชี้วัดตามหลักสูตรจากแหล่งเรียนรู้เข้าสู่ห้องเรียน ด้วยการลดทอนเนื้อหา ลดภาระงาน บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรฯ ทั้ง 3 ด้าน คือ มาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะ รวมไปถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติจริงในแหล่งเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ

“การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันสร้างคุณภาพการศึกษาอย่างรอบด้านและครบทุกมิติ ทั้งมิติทางด้านวิชาการ และมิติทางสังคม เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมืองและองค์กร อีกทั้งยังเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. จากการที่ใช้ soft power ของไทยจากแนวทางตามพระราชดำริที่ทรงคุณค่าของบ้านเมือง เกิดเป็นปราชญ์ชุมชน นำมาสู่การพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียน เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการประยุกต์ใช้แล้วต่อยอดไปถึงระดับการสร้างผลงานของตัวเองจากการเรียนรู้นั้น กลายเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมในความเป็นไทย ประจักษ์สู่สายตาคนทั้งประเทศและในระดับโลก” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้านนายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของโครงการ คือ การเน้นย้ำให้นักเรียนและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นฐาน บูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียน ซึ่งทาง กปร. นั้นมีสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ให้ถึงระดับห้องเรียน และเมื่อได้ทราบว่าทาง สพฐ. มีการขับเคลื่อนการบูรณาการองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จึงเป็นการดีที่จะได้ทำความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นของการบูรณาการจากศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในการสร้างความร่วมมือนี้ ยังมีมูลนิธิชัยพัฒนา บริษัทไทยเบฟเวอเรจ และกระทรวงศึกษา ร่วมขับเคลื่อนผนึกกำลังในการพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรม ลงสู่คุณภาพผู้เรียน