วันที่ 8 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานประชุมเตรียมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning บูรณาการใช้แหล่งเรียนรู้แทนห้องเรียน “ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่” ณ ห้องประชุมล้านเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ศึกษานิเทศก์ สพป.เชียงใหม่ เขต 1 และสพม.เชียงใหม่ รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ รวม 80 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาที่สำคัญคือเป้าหมายของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 คือ มาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ผ่านกระบวนการ Active Learning ที่ต้องเน้นย้ำให้เกิดในโรงเรียน ด้วยการบูรณาการตัวชี้วัด บูรณาการข้ามกลุ่มสาระฯ เติมทัศนคติและคุณค่า (Attitude and Value) ลดทอนเนื้อหาและชิ้นงาน โดยไม่ยึดติดตำราเพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาในการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการเรียนรู้ของตนเองในแต่ละชั่วโมงที่ครูได้จัดกิจกรรมให้ โดยคิดอย่างเป็นระบบและคิดอย่างอัตโนมัติ ส่งให้นักเรียนถึงสมรรถนะ และที่สำคัญการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ทำให้นักเรียนได้เห็นของจริง ปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมที่มีปราชญ์ท้องถิ่น เป็น Soft Power อันทรงคุณค่าของไทย ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะให้กับนักเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า แหล่งเรียนรู้ถือว่าเป็นการจัดประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้พบกับสถานการณ์จริงนอกจากบทเรียนในตำรา แต่ในแหล่งเรียนรู้นั้นจะต้องสามารถช่วยบูรณาการให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เน้นการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน หรือใกล้กับโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง สร้างความภาคภูมิใจในชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะคุณลักษณะของนักเรียนผ่านแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นด้วยปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีทั้งองค์ความรู้ที่ลุ่มลึกและทัศนคติที่ดีในสังคม โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเตรียมความพร้อมการบูรณาการแหล่งเรียนรู้สู่ห้องเรียน ผ่านกิจกรรม Active Learning กับศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นจุดแรกที่ได้มีความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มูลนิธิชัยพัฒนา บริษัทไทยเบฟเวอเรจ และกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นการขยายผลองค์ความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นสิ่งที่ สพฐ. ได้ดำเนินการแล้วสามารถขยายผลจากสิ่งที่ได้ทำอยู่ คือการบูรณาการแหล่งเรียนรู้สู่ห้องเรียน
“ทั้งนี้ การขับเคลื่อนที่สำคัญคือผู้บริหารโรงเรียน และหัวหน้าฝ่ายวิชาการที่จะนำพาครูและนักเรียน ให้เกิดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ซึ่งถือเป็นหน่วยบูรณาการที่มีความหมายนั้นสามารถแปลงเป็นห้องเรียนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดตามหลักสูตรฯ โดยไม่ต้องสอนซ้ำในห้องเรียนอีก รวมทั้งร่วมเสริมเติมคุณลักษณะที่เกิดจากการใช้แหล่งเรียนรู้นั้นช่วยบ่มเพาะ และนำไปสู่การสร้างสมรรถนะได้ง่ายขึ้น เกิด 3 เป้าหมายของหลักสูตรชาติกับนักเรียนทุกคนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนำทำโดย สพป.เชียงใหม่ เขต 1 และ สพม.เชียงใหม่ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบให้กับเขตพื้นที่อื่นๆ และจังหวัดอื่นๆ ในการขับเคลื่อนการบูรณาการแหล่งเรียนรู้แทนห้องเรียน จากการประชุมวันนี้ขอชื่นชมทั้งศึกษานิเทศก์ในระดับเขตพื้นที่ ผู้บริหาร และครูทุกท่านที่มาในวันนี้ ที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องลดภาระ นักเรียนเพื่อให้ได้คุณภาพที่เข้าถึงการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง คุณภาพนักเรียนเกิดขึ้นทุกที่แน่นอนจากผลของผู้ร่วมประชุมทั้ง 80 ท่านในวันนี้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- ผอ.สวก.สพฐ. “วิษณุ” เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมงาน “ทิศทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กโคราช” จัดการเรียนรู้ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบาย ศธ. ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และโรงเรียนภัทรบพิตร จ.บุรีรัมย์ - 4 ตุลาคม 2024