สพฐ. ร่วมมือ สอศ. หนุนเด็กเรียนวิชาชีพระยะสั้น เทียบโอนหน่วยกิตได้ สร้างอาชีพมีงานทำต้นแบบที่นครราชสีมา

วันที่ 13 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือในกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น แบบสะสมหน่วยกิต (KUSOOM Credit Bank) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระหว่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 และโรงเรียนเอกชนในอำเภอปากช่อง ประจำปี 2565 โดยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา /รองผู้อํานวยการ สพป.นครราชสีมาเขต 4 /รองศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา /ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้อํานวยการสํานักความร่วมมือ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ผู้จัดการสถานประกอบการ ผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนในสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 4 และ สพม.นครราชสีมา รวมถึงผู้รับใบอนุญาต / ผู้จัดการ / ผู้อํานวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี และโรงเรียนสังกัดเอกชน ณ หอประชุม วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี จ.นครราชสีมา

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันเป็นการจัดการศึกษาที่สนองต่อความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีรูปแบบของการจัดการศึกษาที่หลากหลายเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และรูปแบบวิธีการจัดการเรียนรู้จึงต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสม การสะสมหน่วยการเรียนรู้ในด้านของการเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์ จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนความรู้ตามความต้องการของผู้เรียน และปลดรั้วโรงเรียนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงความรู้ ปลดล็อกการเรียนรู้ด้วยเครือข่ายสร้างความร่วมมือ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกที่หลากหลาย ตามความถนัดและความชอบของตนเอง การเรียนรู้ของนักเรียนจึงเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมาย ดังจะเห็นได้จากการสร้างความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครรราชสีมา และโรงเรียนเอกชนในอำเภอปากช่อง ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ธนาคารสะสมเครดิต (KUSOOM CREDIT BANK) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่มีเทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) นอกจากเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการ ยังเป็นการเรียนรู้ที่สอดรับกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม

“จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการบูรณาการด้านการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี กับสถาบันการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด สพฐ. และการจัดการศึกษาเอกชน ในการแก้ปัญหา Learning Loss เติมเต็มความรู้ให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนตามความชอบ ความถนัด  พร้อมสร้างทักษะอาชีพ เพื่อการมีงานทำในอนาคต ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้นอกจากจะได้ความรู้ที่มีประโยชน์แล้ว ยังได้เครดิตแบงก์สำหรับการเทียบโอนหน่วยกิตด้วย ถือว่าเป็นโครงการที่ให้ความก้าวหน้ากับนักเรียน  นอกจากนั้น สิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอคือการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ใน 4 ด้าน คือ 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง 3.มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4. เป็นพลเมืองดี เป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เมื่อผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีก็จะส่งผลต่อการเรียน การประกอบอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม อีกทั้งยังตอบโจทย์แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาคือให้เด็กได้ทำตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการ กพฐ. ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เน้นสมรรถนะผู้เรียนครบทุกมิติ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กไทย ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศชาติในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 โดยมีนักเรียนที่ผ่านการเรียนหลักสูตรระยะสั้น 30 ชั่วโมง กว่า 3,000 คน ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารทราบว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ได้ทราบตัวตนและมีอัตราการเรียนต่อสายอาชีพมากขึ้น สำหรับในปีการศึกษา 2565 วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี  ได้ปรับการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น แบบสะสมหน่วยกิต (Credit Bank)  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กับโรงเรียนในสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 4 และโรงเรียนเอกชนในอำเภอปากช่อง ประจำปี 2565 โดยมีกระบวนการที่ชัดเจนสอดคล้อง เชื่อมโยงระบบการเทียบโอนระหว่าง สพฐ.และสอศ.ได้ครอบคลุม

ทั้งนี้ ในการจัดโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 4 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา และสถานประกอบการ เช่น บริษัท CP-ALL, TRUE, LOTUS, FARM CHOKCHAI, APPLE แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างดี